สวัสดีค่ะ เภว๊าวว๊าวความรู้คู่สุขภาพ
วันนี้จะมาพูดถึงยารักษาสิวนะคะ ก่อนที่เราจะมารู้จักยารักษาสิวเรามารู้จักสาเหตุและกระบวนการของการเกิดสิวกันก่อนค่ะ มีการศึกษาพบว่าปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว อาจเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทต่อมไร้ท่อทำให้มีการสร้างฮอร์โมน androgen มากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นต่อมน้ำมันที่บริเวณผิวหนังให้สร้างน้ำมันออกมามากขึ้น รวมถึงสาเหตุจากพันธุกรรม อาหาร และ ปัจจัยอื่น ๆ หลายๆปัจจัยร่วมกัน เช่น การใช้ครีม เครื่องสำอาง การสัมผัสบริเวณใบหน้าบ่อย ๆ วิธีการทำความสะอาดใบหน้า ยาที่รับประทานประจำซึ่งยาบางตัวอาจจะทำให้เกิดสิวได้ เป็นต้น
ซึ่งกลไกการเกิดสิวจะเกิดจากความผิดปกติของรูขุมขน และต่อมไขมัน 4 ประการ ได้แก่
1. การเพิ่มขนาดและการทำงานของต่อมไขมันทำให้ผลิตน้ำมันมากขึ้นกว่าปกติ และ
2.การหนาตัวของเคราตินทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน เมื่อเกิดการหนาตัวของเคราติน ในบางคนเคราตินไม่เกิดการหลุดออกได้ตามธรรมชาติร่วมกับน้ำมันที่ออกจากต่อมไขมันทำให้บริเวณรูขมขุมเกิดการอุดตันได้ เมื่อรูขุมขนอุดตันทำให้ไขมันที่ผลิตขึ้นไม่สามารถออกจากรูขุมขนได้ ทำให้เกิดสิวอุดตัวหัวขาว (close comedone)และเมื่อสิวอุดตันหัวขาวมีท่อไขมันที่ขยายตัวขึ้นก็จะมีเม็ดสีที่ผิวหนังทำปฏิกิริยากับอ็อกซิเจนในอากาศทำให้ไขมันอุดตันบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นกลายเป็นสิวอุดตันหัวดำ (open comedone)
3.เมื่อมีไขมันจำนวนมากจะทำให้เกิด การเพิ่มจำนวนของ Propionibacterium acnes (ในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Cutibacterium acnes (C.acnes)) ซึ่งเป็นแบคทรีเรียที่ชอบกรดไขมันในต่อมไขมันเพิ่มจำนวนมากขึ้น
4.เมื่อ Cutibacterium acnes (C.acnes) เพิ่มจำนวนมากขึ้นก็จะเกิดกระบวนการอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้รูขุมขนที่เกิดการอักเสบเป็นหนองและมีขนาดใหญ่ขึ้นในที่สุดก็กลายเป็นสิวหนองนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิดกระบวนการอักเสบเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้เกิดรอยแดงหรือรอยแผลเป็นบนผิวได้นะคะ
เมื่อเราเข้าใจกระบวนการการเกิดสิวแล้วก็จะทำให้เราเข้าใจการรักษาสิวด้วยยามากขึ้นโดยเริ่มจากการ
1. ลดการอุดตันของรูขุมขน โดยช่วยเพิ่มการผลัดเซลล์และลดไขมันอุดตัน
2. ลดปริมาณน้ำมันจากต่อมไขมัน
3. ลดปริมาณเชื้อ Propionibacterium acnes ในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Cutibacterium acnes (C.acnes)
4. ลดการอักเสบที่เกิดขึ้น
โดยการรักษาสิวจะมีทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา โดยการใช้ยารักษาสิวจะมีทั้งแบบยารับประทานและแบบยาใช้เฉพาะที่ ส่วนการรักษาสิวแบบไม่ใช้ยาจะเป็นการกดสิว การใช้เคมีหรือกรดผลไม้ผลัดเซลล์ผิว ก่อนอื่นเราจะมาพูดถึงยาทาสิวแบบใช้เฉพาะที่กันก่อนนะคะ
1.ยาทากลุ่ม Retinoid ได้แก่ ตัวยาTretinoin มีชื่อการค้า Retin-A®, Retacnyl®, A-TINIC® และตัวยา Adapalene มีชื่อการค้า Differin® ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ละลายหัวสิว (comedolytic) ลดสิวอุดตัน ลดการเกิดสิวใหม่ ช่วยเพิ่มการผลัดเซลล์ผิว (keratolytic) ลดการอักเสบ (anti-inflammatory) เนื่องจากยากลุ่มนี้จะสลายตัวเมื่อถูกแสงดังนั้นจึงใช้ยากลุ่มนี้วันละครั้งก่อนนอน และการใช้ยาในช่วงแรกอาจจะทำให้สิวเห่อขึ้นมาได้ แต่เมื่อใช้ไปจะเห็นผลชัดเจนเมื่อใช้ยาไป 8-12 สัปดาห์ ข้อควรระวังของการใช้ยากลุ่มนี้คือ อาจจะทำให้ผิวแห้ง แดง ลอกได้ และห้ามตากแดด หรือควรใช้ครีมกันแดดในตอนกลางวันเนื่องจากการใช้ยาจะทำให้ผิวหนังบางลงได้ก็จะทำให้ผิวเป็นอันตรายต่อการถูกแสงแดดได้ ข้อแตกต่างระหว่างตัวยา Tretinoin และ Adapalene คือตัวยา Adapalene ถูกพัฒนาให้มีความคงตัวต่อแสงแดดและปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ดีกว่า อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีกว่าตัวยา Tretinoin และระคายเคืองผิวหนังน้อยกว่า ถึงแม้ว่าตัวยา Adapalene จะมีความคงตัวต่อแสงแดดได้ดีขึ้นแต่ยังควรต้องใช้ครีมกันแดดในตอนกลางวันคือทายาตอนก่อนนอนดีที่สุด ยาทากลุ่ม Retinoid ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์เด็ดขาดเพราะจะทำให้ทารกพิการได้ หากวางแผนจะตั้งครรภ์ควรหยุดใช้ยาไปก่อน
2.ยาทา Benzoyl Peroxide (BPO) มีชื่อการค้า Benzac®, Brevoxyl® ช่วยเพิ่มการผลัดเซลล์ผิว(keratolytic) ได้เล็กน้อย ลดการอักเสบ (anti-inflammatory) และต้านเชื้อแบคทรีเรีย Cutibacterium acnes (C.acnes) (antibacterial) ฤทธิ์เด่น วิธีใช้ให้ทาบางๆเช้าเย็นทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก หลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อเยื่ออ่อน ยาทา Benzoyl Peroxide (BPO) จะมีความเข้มข้น 2.5% 5% 4% 10% และมีทั้งในรูปแบบเจลและครีม โดยคนที่ใช้ Benzoyl Peroxide (BPO) ที่มีความเข้มข้นสูงจะมีผลข้างเคียงคือผิวแห้ง แดง ลอก แสบ มากกว่าคนที่ใช้ความเข้มข้นต่ำ ๆ ดังนั้นจึงแนะนำให้เริ่มใช้ยาตัวนี้จากความเข้มข้นต่ำก่อนเพื่อลดผลข้างเคียง ยานี้มีฤทธิ์ oxidize จึงกัดสีเสื้อผ้าทำให้เกิดรอยด่างบนเสื้อผ้าได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสื้อผ้าขณะทายา
3.ยาทาที่เป็นยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ตัวยา Erythromycin และตัวยา Clindamycin ที่มีชื่อการค้าว่า Clinda-M®, Dalacin-T®, Clindalin® โดยมีรูปแบบเจลและโลชั่น ยาปฏิชีวนะจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Cutibacterium acnes (C.acnes) ช่วยลดจำนวนเชื้อ และลดการอักเสบของสิวจึงใช้ได้ผลดีกับสิวอักเสบ ในปัจจุบันเชื้อ Cutibacterium acnes (C.acnes) ดื้อต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น จึงแนะนำให้ใช้ยาทาปฏิชีวนะร่วมกับยาทากลุ่ม Retinoid หรือใช้ยาทาปฏิชีวนะร่วมกับยาทา Benzoyl peroxide วิธีใช้ยาให้ใช้วันละ 2 ครั้งทาเฉพาะบริเวณที่เป็นสิวหนองหรือบริเวณสิวหัวปิดที่มีตุ่มนุ่นแดง ผลข้างเคียงจะพบได้น้อยแต่อาจจะพบอาการแดง แสบ แห้ง ได้ในแบบโลชั่นเนื่องจากมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
4.ยาทา Azelaic acid ช่วยเพิ่มการผลัดเซลล์ผิว (keratolytic) ลดการอักเสบ (anti-inflammatory) ได้เล็กน้อย ต้านเชื้อแบคทรีเรีย Cutibacterium acnes (C.acnes) (antibacterial) และยับยังการสร้างสิวอุดตันใหม่ ให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับ Tretinoin 0.05% และ BPO 5% แต่ยาตัวนี้จะเป็นยาทางเลือกรองลงมาจาก Tretinoin0.05% และ BPO5% วิธีใช้ให้ทาบางๆหลังล้างหน้าเช้าเย็น โดยยาตัวนี้อาจทำให้ ผิวแสบไหม้ แห้ง คัน ลอกได้ ในบางคนอาจพบว่ามีสีผิวจางลงเนื่องจากยาตัวนี้มีผลต่อเม็ดสีผิวเมลานิน จึงมีการใช้ในการรักษาฝ้าด้วย
4.ผลิตภัณฑ์ยาทากลุ่มอื่น ๆ
4.1 ยาทากลุ่ม Salicylic acid โดยความเข้มข้น 1-3% ของ Salicylic acid จะออกฤทธิ์เพิ่มการผลัดเซลล์ของเคราติน (keratolytic) และยังมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทรีเรียและละลายหัวสิว (comedolytic) อย่างอ่อนในการรักษาสิวด้วย แต่มีประสิทธิภาพในการรักษาสิวน้อยกว่ายาทากลุ่ม Retinoid แต่มีการระคายเคืองผิวหนังน้อยกว่าจึงอาจใช้เป็นยาทางเลือกแทนในคนที่เป็นสิวไม่มาก
4.2.Tea tree oil เป็นสารสกัดจากใบของต้น Melaleucaalternifolia เป็นสมุนไพรจากประเทศออสเตรียเลีย มีสาร Terpene ให้ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทรีเรีย Cutibacterium acnes (C.acnes) และลดการอักเสบ (anti-inflammatory) จึงมักนำมาใช้ผสมกับยารักษาสิว แต่บางคนอาจเกิดผื่นผิวหนังได้
4.3 Sulphur เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในการใช้เกี่ยวกับโรคผิวหนังมานาน มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการผลัดเซลล์ผิว(keratolytic) และมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อบนผิว (antiseptic) พบผลข้างเคียงได้น้อย
4.4 Retinol วิตามินเอ ช่วยลดการอุดตัน (comedolytic) เพิ่มการผลัดเซลล์ของเคราติน (keratolytic) ลดการอักเสบของผิว ซึ่ง Retinol ต้องอาศัยเอนไซม์ในชั้นผิวหนังเปลี่ยนให้เป็นกรดวิตามินเอแล้วจึงออกฤทธิ์ได้ มีประสิทธิภาพน้อยกว่า Trenoin และอาการข้างเคียงน้อยกว่า ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์เด็ดขาดเพราะจะทำให้ทารกพิการได้ หากวางแผนจะตั้งครรภ์ควรหยุดใช้ยาไปก่อน
ยารับประทานสำหรับสิว
1.ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานสำหรับสิว โดยออกฤทธิ์ยังยั้งเชื้อแบคทรีเรีย Cutibacterium acnes (C.acnes) แต่ในปัจจุบันมีปัญหาเชื้อดื้อยา จึงต้องมีการจำกัดการใช้ยากลุ่มนี้โดยให้ใช้ในคนที่เป็นสิวระดับรุนแรงปานกลางขึ้นไปร่วมกับยา topical retinoid หรือร่วมกับ Benzoyl Peroxide (BPO) ซึ่งการใช้ยาต้องใช้อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผล และไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 6-8 สัปดาห์ควรเป็นยา และก่อนรับประทานยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนไม่ควรนำชื่อยาไปซื้อรับประทานเองเพื่อพิจารณาการใช้ยาให้เหมาะสมกับแต่ละคน
2.ยารับประทานกลุ่ม Retinoid ได้แก่ ตัวยา Isotretinoin เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาสิวมักใช้กับคนที่มีสิวอักเสบรุนแรง สิวหัวช้าง โดยยานี้จะไปช่วยลดการทำงานของต่อมไขมันและทำให้ต่อมไขมันมีขนาดเล็กลงจึงทำให้ผิวแห้งลง เมื่อต่อมไขมันทำงานลดลงเชื้อ Cutibacterium acnes (C.acnes) ก็ลดลงด้วยและส่งผลให้ลดการอักเสบได้ด้วย (anti-inflammatory) โดยการรับประทานยานี้จะทำให้ปากแห้ง ตาแห้ง จมูกแห้ง ผิวหนังลอก ผื่นคันได้ อีกทั้งการเริ่มรับประทานยานี้จะต้องพิจารณาสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นเพื่อประเมินความจำเป็นในการใช้ยาเนื่องจากยานี้มีอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงอาจเกิดได้ในบางคน เช่น ทำให้ระดับไขมันผิดปกติ ตับอักเสบ แพ้แสง และซึมเศร้า เป็นต้น ยานี้ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์เนื่องจากทำให้ทารกมีความผิดปกติได้ และคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ต้องหยุดยานี้ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน
3.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน จะใช้ในผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นสิวรุนแรงปานกลางและใช้ยาทาไม่ได้ผล หรือใช้กับผู้หญิงที่มีผิวมัน เป็นสิวที่ใบหน้าและลำตัว การใช้ฮอร์โมนเพื่อลดฤทธิ์ของแอนโดรเจน ลดการผลิตไขมัน โดยการรักษาสิวจะใช้ยาฮอร์โมนอย่างน้อย 3 เดือนจึงจะเห็นผลและควรใช้ควบคู่กับยาทา ควรใช้นาน 6-12 เดือน หากต้องการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยาไม่ควรนำชื่อยาไปซื้อกินเอง
การรักษาสิวอาจจะใช้เวลา 1-2 เดือนกว่าจะเห็นผลคงที่และอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเราอาจจะต้องมีวินัยในการใช้ยา รวมถึงมีวินัยทำความสะอาดหน้าที่เหมาะสม และหมั่นสังเกตว่ามีปัจจัยอะไรที่มากระตุ้นทำให้เกิดสิวเพิ่มได้ เช่น เครื่องสำอางบางชนิด ความเครียด ให้พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ฝากติดตามบทความอื่น ๆ ด้วยนะคะ
Future read:
1. ”เรตินเอ Retin A และ Retinol”. ฟาร์มาบิ้วตี้แคร์ดอทคอม.[Internet]. Available from: https://www.pharmabeautycare.com/content/5498/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD-retin-a-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-retinol. (Cited 21 April 2020)
Reference:
1. ” แนวปฏิบัติการใช้ยารักษาสิวในร้านยา”.Pharmacycouncil.[Internet]. (Cited 21 April 2020)
2. “ผลิตภัณฑ์รักษาสิว”. ภูริดา เวียนทอง. การเลือกใช้เภสัชภัณฑ์ เล่มที่ 2 ;2556.p.17-27
3. “Update in acne management”. เพ็ญพรรณ วัฒนไกร.[Internet]. (Cited 21 April 2020)
เภสัชกรอิสรีย์นะคะ จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาพและอาหารเสริม หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะคะ ติดต่องาน : LINE @Bhaewow
E-mail : bhaewow@gmail.com
ติดตามเราได้ที่ : Youtube Bhaewow