Tuesday, 3 September 2024

เส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร ป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอดได้อย่างไร ตัวช่วยป้องกันเส้นเลือดขอด

สวัสดีค่ะ เภว๊าว ว๊าวความรู้คู่สุขภาพ
วันนี้จะมาพูดถึงเส้นเลือดขอดกันนะคะ หลายๆคนคงสงสัยว่าเส้นเลือดขอดเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไร ใช้ยาได้หรือไม่ วันนี้เราจะไขข้อสงสัยกันนะคะ
เส้นเลือดขอดคืออะไร เกิดจากอะไร
เส้นเลือดขอด (Varicose veins) คือ ภาวะหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังมีภาวะบวมโต ปูดนูน ขยายขนาด มักจะมีสีน้ำเงินหรือสีม่วงเข้ม บริเวณขาและเท้า ซึ่งเกิดจากการทำงานของผนังกั้น (วาล์ว Valve) การไหลเวียนกลับของเลือดในหลอดเลือดดำบางเส้นที่จะส่งเลือดกลับไปแลกเปลี่ยนอ็อกซิเจนที่หัวใจทำงานได้ไม่ดี หรือมีความผิดปกติของผนังหลอดเลือด โดยมีปัจจัยที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดขอดได้ ดังนี้
– พันธุ์กรรม
– อายุเพิ่มมากขึ้นทำให้ความแข็งแรงของหลอดเลือดลดลง
– คนที่ยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
– คนที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอเนื่องจากกล้ามเนื้อที่จะไปพยุงเส้นเลือดไม่แข็งแรงพอ
– คนที่มีน้ำหนักมาก
– หญิงตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเส้นเลือดขอดมากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงและน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น
– สูบบุหรี่
อาการเป็นอย่างไร
อาการของเส้นเลือดขอดส่วนใหญ่ไม่มีอาการชัดเจน ในคนที่มีอาการไม่มากจะเห็นเป็นเส้นเลือดเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วงเข้มบริเวณขา เป็นลักษณะคล้ายใยแมงมุม ส่วนคนที่เป็นมากก็จะเห็นเป็นเส้นเลือดบวม นูน ออกมาจากผิวหนังอย่างชัดเจน ในบางคนอาจจะมีอาการ ใดอาการหนึ่งร่วมด้วย เช่น ปวดขา รู้สึกหนักๆขาเหมือนไปออกกำลังกายมา ข้อเท้าบวม เป็นตะคริว สีผิวเปลี่ยน และมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น
บรรเทาอาการเส้นเลือดขอดและป้องกันเส้นเลือดขอดได้อย่างไร
– หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ๆ ควรเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ
– หลีกเลี่ยงการนั่งไขว้ขา
– ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและหลอดเลือด
– ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน
การรักษาเส้นเลือดขอด มีวิธีไหนบ้าง ในปัจจุบันเส้นเลือดขอดมีหลายวิธี ได้แก่ การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด และการรักษาแบบที่ต้องทำหัตถการหรือทำการผ่าตัด
1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด
1.1 การรักษาแบบประคับประคอง การรักษาวิธีนี้จะเหมาะกับคนที่ยังมีอาการไม่มาก หรือเป็นเส้นเลือดขอดในระดับที่ไม่รุนแรง โดยการใช้ถุงน่องทางการแพทย์ อย่างเช่น ถุงน่อง Jobst หรือผ้าพันยืดพันบริเวณขา ให้ครอบคลุมบริเวณที่เกิดเส้นเลือดขอดทั้งหมด ขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือยืนนาน ๆ ส่วนเวลานอนไม่ต้องใช้ถุงน่องหรือผ้าพันยืดแต่ให้หาหมอนที่ไม่สูงมากให้เท่ากับระดับหัวใจมารองให้ขาสูงเล็กน้อยเป็นเวลานานประมาณ 30 นาที แต่หากมีเวลาแนะนำให้ทำวันละ 4 ครั้ง
ตัวถุงน่อง Jobst เป็นถุงน่องทางการแพทย์ จะช่วยเรื่องลดความดันในหลอดเลือดดำที่ขา ลดการไหลย้อนกลับของเลือด เพิ่มความสมดุลของหลอดเลือดได้ นอกจากจะใช้ในคนที่มีอาการของเส้นเลือดขอดแล้ว คนที่ต้องเดินหรือยืนนาน ๆสามารถใช้เพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอดและลดอาการปวดขาได้อีกด้วย โดยตัวถุงน่องจะมี 3 ระดับแรงดัน คือ 15-20 มิลลิเมตรปรอท 20-30 มิลลิเมตรปรอท 30-40 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งจะมีความแตกต่างของแต่ละระดับแรงดัน ดังนี้
แรงดัน 15-20 มิลลิเมตรปรอท จะเหมาะกับคนที่มีอาการของเส้นเลือดขอดที่ไม่รุนแรงมาก หรือมีอาการปวดขา ขาบวมเล็กน้อย
แรงดัน 20-30 มิลลิเมตรปรอท จะเหมาะกับคนที่เป็นเส้นเลือดขอดที่มีอาการปานกลาง หรือมีอาการปวดขา ขาบวมปานกลาง
แรงดัน 30-40 มิลลิเมตรปรอท จะเหมาะกับคนที่เป็นเส้นเลือดขอดที่มีอาการมาก หรือมีอาการปวดขา ขาบวมมาก
ตัวถุงน่องทางการแพทย์หรือผ้าพันยืด ควรระวังการใช้ในผู้สูงอายุ คนที่มีน้ำหนักเกินมาตราฐาน คนที่มีภาวะหลอดเลือดแดงขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดดำอักเสบ ดังนั้นหากมีโรคประจำตัวแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ถุงน่องทางการแพทย์หรือผ้าพันยืด
1.2 การใช้ยารับประทานและยาทาบรรเทาอาการ การรับประทานยาแผนปัจจุบัน ได้แก่ Diosmin และ Hesperidin ซึ่งเป็นสารสกัดจากสารกลุ่มฟลาวานอยด์ โดยปกติแล้วมักจะพบสารกลุ่มฟลาวานอยด์ในผัก ผลไม้ หรือเครื่องดื่มบางชนิดเช่น ชา เป็นต้น โดยมีการพัฒนาการสกัดสารสำคัญจากสารกลุ่มฟลาวานอยด์ได้เป็น Diosmin และ Hesperidin ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับหลอดเลือดดำขอดและรักษาริดสีดวงทวาร โดยมีผลไปลดแรงดันในหลอดเลือด และเพิ่มการบีบตัวของหลอดเลือดดำ เพิ่มการไหลเวียนของระบบน้ำเหลือง จึงส่งผลให้ลดอาการบวม ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบทำให้ดลดการเกิดกระบวนการอักเสบ สำหรับคนที่ต้องการรับประทานยากลุ่มนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
2. การรักษาแบบการทำหัตถการและการผ่าตัด
2.1 การฉีดยาเข้าไปบริเวณเส้นเลือดที่เป็นเส้นเลือดขอด เหมาะกับคนที่เป็นเส้นเลือดขอดที่ไม่ได้มีอาการมาก แต่ใช้วิธีรักษาแบบประคับประคองแล้วอาการไม่ค่อยดีขึ้น ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที
2.2 การใช้เลเซอร์ความร้อน และ/หรือ การใช้ความถี่คลื่นวิทยุ ทั้งสองวิธีนี้จะเป็นการรักษาเส้นเลือดขอดแบบเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก แผลไม่ใหญ่มากขนาดไม่เกิน 2-3 มิลลิเมตร และใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที
2.3 การผ่าตัด เหมาะกับคนที่มีอาการของเส้นเลือดขอดมาก และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น โดยการผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดนั้นออก เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ และใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ฝากติดตามบทความต่อไปด้วยนะคะ

Reference:
1. https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/diosmin
2. https://www.jobst.com/

Disclaimer

เราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในเว็บไซด์ แห่งนี้มีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หรือใช้แทนคำการวินิจฉัย การรักษาทางการแพทย์แต่อย่างไร หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบายควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น