ยาสามัญประจำบ้าน คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณา ว่าเป็นยาที่ประชาชนจะสามารถซื้อมาใช้เองได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน
วิธีใช้ยาสามัญประจำบ้าน
1.อ่านฉลากให้เข้าใจก่อนใช้ โดยยาที่เราเก็บไว้ควรมีฉลากติดไว้ที่ซองยาและมีวิธีใช้อย่างชัดเจน
2.ใช้ยาตามปริมาณที่ฉลากยาระบุไว้ ไม่ควรใช้ยาเกินขนาด
การเก็บรักษายาสามัญประจำบ้าน ควรเก็บยาสามัญประจำบ้านไว้ที่ไหน? เก็บยาอย่างไร?
1.เก็บไว้ในที่พ้นแสง ความร้อน ห่างความชื้น
2.แยกส่วนระหว่างยาใช้ภายนอก และยารับประทาน และยารักษาโรคประจำตัว เนื่องจากป้องกันความสับสนในการหยิบผิด
3.เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
ยาสามัญประจำบ้านมีทั้งหมด 52 ชนิด 16 กลุ่ม แต่วันนี้ทางเราจะเลือกรายการยาที่จำเป็น 10 กลุ่ม มาให้เพื่อนๆกันนะคะ
10 รายการยาสามัญประจำบ้านที่แนะนำให้มีติดบ้านไว้
1.กลุ่มยาเม็ดลดกรดในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืด ขับลม ยากลุ่มนี้มีทั้งแบบเม็ดและแบบน้ำ ได้แก่ตัวยา
– ยาลดกรดอะลูมิเนียม-แมกนีเซียม ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการจุกเสียด กรดในกระเพาะอาหารเกิน ตัวนี้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการจุกเสียดแน่นท้องรับประทานได้
– ยาลดกรดอะลูมิเนียม-แมกนีเซียม ผสมยาขับลมไซเมทิโคน ตัวนี้นอกจากจะลดกรดในกระเพาะอาหารแล้วยังช่วยขับลมด้วย ตัวนี้หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง
ข้อควรระวัง ระวังในผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
2. กลุ่มยาแก้ท้องเสีย เนื่องจากอากาศร้อนอาจทำให้อาหารเสียได้ง่าย และโรคท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษพบการระบาดได้ทั้งปี ดังนั้นจึงควรมียากลุ่มนี้ติดบ้านเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ทัน ได้แก่ตัวยา
– ยาคาร์บอน หรือผงถ่าน (activated charcoal) ตัวนี้จะเป็นผงถ่านสกัดสำหรับใช้ทางการแพทย์สามารถรับประทานได้ โดยผงถ่านคาร์บอนจะไปดูดซับสารพิษ หรือสารเคมีไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย บรรเทาอาการท้องเสียเบื้องต้นที่เพิ่งมีอาการ และยังไม่มีไข้ ห้ามรับประทานผงถ่านคาร์บอนพร้อมกับยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Norfloxacin หรือ Ofloxacin เป็นต้น เนื่องจากผงถ่านคาร์บอนจะไปลดการดูดซึมยาเหล่านี้ได้แนะนำให้รับประทานผงถ่านคาร์บอนตอนท้องว่าง ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
– ผงเกลือแร่ เพื่อลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ที่เสียไปตอนที่ท้องเสียหรือตอนอาเจียน เพื่อป้องกันภาวะช็อคจากการขาดน้ำ
3. กลุ่มยาระบายสำหรับบรรเทาอาการท้องผูก ได้แก่ตัวยา
– ยาระบายมะขามแขก ให้รับประทานก่อนนอน ห้ามใช้เป็นประจำ และห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์
– ยาโซเดียมคลอไรด์ชนิดสวนทวาร ตัวนี้เป็นยาน้ำสำหรับสวนเข้าไปทาทวารหนัก กลั้นไว้จนทนไม่ไหวจึงไปเข้าห้องน้ำ
4.กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้สำหรับบรรเทาอาการปวดศีรษะ หรือมีไข้ ได้แก่ตัวยา
– ยาพาราเซตามอล ยาจะไปบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และลดไข้ โดยยาพาราเซตามอลจะไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
– พลาสเตอร์บรรเทาอาการปวด ใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ห้ามติดบริเวณเยื่อบุอ่อน ตา และบริเวณที่มีบาดแผล
5.ยาแก้แพ้แก้คัน ลมพิษ ผื่นแพ้ แก้แพ้ลดน้ำมูก ได้แก่ตัวยา
– ยาคลอเฟนิรามีน เป็นยาแก้แพ้ แก้คัน ลดผื่นคัน ลดน้ำมูก แต่อาจทำให้ง่วงนอนได้ หลีกเลี่ยงการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือขับรถ
6.ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะ ได้แก่ตัวยา
– ยาแก้ไอน้ำดำ ยานี้ช่วยบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ สตรีมีครรภ์ และคนชรา
– ยาจิบแก้ไอมะแว้ง ยานี้ช่วยบรรเทาอาการไอและขับเสมหะ
7.ยาทาผิวหนัง ได้แก่ตัวยา
– ยาคาลาไมด์ แก้ผดผื่นคันของผิวหนัง ผื่นลมพิษ ผื่นแพ้ต่างๆ
8.ยาหม่อง บรรเทาอาการปวด บวม bแก้วิงเวียน บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ แก้คัดจมูก ได้แก่ยา
– ยาดมแก้วิงเวียน ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ แก้คัดจมูก
– ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง ช่วยบรรเทาอาการปวด บวมอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย และบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
9.แก้เมารถ ได้แก่ตัวยา
– ไดเมนไฮดริเนท ช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ บรรเทาอาการเวียนศีรษะ ยานี้อาจทำให้ง่วงซึมได้ หลีกเลี่ยงการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร และขับรถ
10.อุปกรณ์ทำแผล ยาใส่แผล น้ำเกลือ ยาแดง แอลกอฮอล์ ได้แก่
– แอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อทำความสะอาดรอบๆแผล ไม่เทใส่แผลโดยตรง
– น้ำเกลือ ทำความสะอาดบาดแผลเพื่อทำความสะอาดเศษฝุ่นออกจากแผล
– ยาแดง หรือโพวิโดนไอโอดีน เป็นยารักษาแผลสด ใช้สำลีชุบทาแผล
– ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีน รักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้น้ำร้อนลวก เพื่อรักษาและป้องกันแผลติดเชื้อจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก ยาตัวนี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือคนที่แพ้ยากลุ่มซัลฟา หลีกเลี่ยงในคนที่เป็นโรคตับและโรคไต
– อุปกรณ์ทำแผลต่างๆ เช่น สำลี พลาสเตอร์ปิดแผล เป็นต้น
การเลือกซื้อยาสามัญประจำบ้านควรมีฉลากคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม มีชื่อยา วิธีการใช้ยา คำเตือน วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุชัดเจน ยาบรรจุอยู่ในสภาพดี สมบูรณ์ ให้ตรวจสอบวันหมดอายุของยา และลักษณะทางกายภาพของยาว่าอยู่ในสภาพปกติก่อนใช้ยาทุกครั้ง
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ ฝากติดตามบทความต่อไปด้วยนะคะ

รายการยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีติดบ้าน
Reference:
1. “ยาสามัญประจำบ้านมีติดบ้านไว้ดี” [Internet]. Available from: http://pca.fda.moph.go.th/public_media_detail.php?id=6&cat=56&content_id=1159 .(Cited 26 May 2020)

เภสัชกรอิสรีย์ (นิก) นะคะ จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาพและอาหารเสริม หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะคะ ติดต่องาน : LINE @Bhaewow
E-mail : bhaewow@gmail.com
ติดตามเราได้ที่ : Youtube Bhaewow