Tuesday, 19 September 2023

การคุมกำเนิด มีวิธีไหนบ้าง คุมกำเนิดแบบไหนดี

สวัสดีค่ะ เภว๊าว ว๊าวความรู้คู่สุขภาพวันนี้จะมาพูดถึงเรื่องการคุมกำเนิด การคุมกำเนิดมีกี่วิธีมาดูกันเลย

การคุมกำเนิด หมายถึง การชะลอการเกิด หรือยืดระยะการมีบุตรให้ห่างออกไป เป็นการวางแผนการตั้งครรภ์เพื่อให้มีบุตรในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือการตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะอันตรายต่อผู้ที่มีโรคประจำตัวได้

ประเภทของการคุมกำเนิด ได้แก่ การคุมกำเนิดแบบถาวร และการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

การคุมกำเนิดแบบถาวรได้แก่

  1. การทำหมันหญิง เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับหญิงโดยการผ่าตัด
  2. การทำหมันชาย เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับชาย โดยการผ่าตัด

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ได้แก่
     1. ยาเม็ดคุมกำเนิด ใช้รับประทานทุกรอบเดือน มีแผงละ 21 เม็ด และ 28 เม็ด
     2. ยาคุมฉุกเฉิน/ยาคุมหลังร่วมเพศ ใช้รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีการป้องกันการตั้งครรภ์ไว้ก่อน โดยรับประทานครั้งแรก 1 เม็ด ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานครั้งที่ 2 อีก 1 เม็ด ภายใน 12 ชั่วโมงต่อมา เช่น ยี่ห้อโพสตินอร์ และมาดอนนา หรือแบบเม็ดเดียวกินครั้งเดียว
     3. ยาฉีดคุมกำเนิด ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ทุก 1 เดือน หรือทุก 3 เดือน
     4. ยาฝังคุมกำเนิด เป็นแคปซูลฝังใต้ผิวหนังที่บริเวณท้องแขนข้างหนึ่งของหญิง ซึ่งโดยปกติจะเป็นข้างซ้าย ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 5 ปี (ชนิด 6 หลอด)  และ 3 ปี (ชนิด 1 หลอด)
     5. ห่วงอนามัย ชนิดฮอร์โมน เป็นสปริงทำด้วยพลาสติก ใช้ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

  1. ห่วงคุมกำเนิด ชนิดทองแดง เป็นเครื่องมือขนาดเล็กที่แพทย์ใส่เข้าไปในโพรงมดลูก ใช้ได้นอน 5-10 ปีตามแต่ชนิดของห่วง
    7. ถุงยางอนามัย เป็นวิธีการคุมกำเนิดโดยผู้ชายเป็นผู้ใช้ สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  2. แผ่นแปะคุมกำเนิด ประกอบด้วย ฮอร์โมน 2 ชนิด ในแผ่นปิดบนผิวหนังใช้ได้นาน 7 วัน
  3. อื่น ๆ เช่น หลั่งนอกช่องคลอด ล้างช่องคลอด การใช้น้ำยาฆ่าเชื้ออสุจิ และการนับระยะปลอดภัย ซึ่งการนับระยะปลอดภัย วิธีนี้จะใช้ได้ดีในกรณีที่หญิงมีประจำเดือนสม่ำเสมอตรงกันทุกเดือน โดยระยะปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ คือ 7 วันก่อนมีประจำเดือน และ 7 วันต่อมานับตั้งแต่วันที่มีประจำเดือนวันแรก

ข้อดีข้อเสียของการคุมกำเนิดแต่ละประเภท

การคุมกำเนิดแบบถาวร

  1. การทำหมันหญิง

ข้อดี มีประสิทธิภาพสูง  ประจำเดือนมาปกติ  ไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว

ข้อเสีย หากต้องการมีบุตรเพิ่มผ่าตัดแก้หมันจะทำได้ยาก

โอกาสตั้งครรภ์   ต่ำ ร้อยละ 0.1-0.5

2.การทำหมันชาย

ข้อดี มีประสิทธิภาพสูง  ไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว

ข้อเสีย หากต้องการมีบุตรเพิ่มผ่าตัดแก้หมันจะทำได้ยาก

โอกาสตั้งครรภ์   ต่ำ ร้อยละ 0.1-0.5

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

1.ยาเม็ดคุมกำเนิด

ข้อดี หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ใช้งานง่าย   ลดอาการก่อนมีประจำเดือน  สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากหยุดยา

ข้อเสีย ต้องกินยาตรงเวลา ห้ามลืมกินยา  มีผลข้างเคียงในผู้ใช้บางราย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ น้ำหนักขึ้น เลือดออกกะปริกะปรอย ทั้งนี้ขนาดของฮอร์โมน แต่ละยี่ห้อ จะมีผลแตกต่างกันและมีผลข้างเคียงต่างกันเล็กน้อย

โอกาสตั้งครรภ์   ปานกลาง ร้อยละ 0.3-8

2.ยาคุมฉุกเฉิน

ข้อดี หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ใช้ยาระหว่างให้นมบุตรได้

ข้อเสีย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียน ปวดท้อง หรือประจำเดือนมาไม่ปกติประมาณ 1-2 รอบเดือน

โอกาสตั้งครรภ์   ปานกลาง ร้อยละ 10-40 *ขึ้นอยู่กับระยะเวลากินยาหลังมีเพศสัมพันธ์

3.ยาฉีดคุมกำเนิด

ข้อดี ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ราคาไม่แพงมาก เป็นการฉีดฮอร์โมนทุก 1-3 เดือน ขึ้นกับชนิดยา ทำให้เลือดประจำเดือนลดลง ใช้ยาระหว่างให้นมบุตรได้

ข้อเสีย มีผลข้างเคียงในผู้ใช้บางราย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ น้ำหนักขึ้น เลือดออกกระปริกระปรอย  อาจมีผลทำให้เกิดการตั้งครรภ์ช้าลงหลังจากหยุดยา

โอกาสตั้งครรภ์   ปานกลาง ร้อยละ 0.3-6

4.ยาฝังคุมกำเนิด 

ข้อดี ใช้ได้นาน 3- 5 ปี ใช้ยาระหว่างให้นมบุตรได้ สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากหยุดยา

ข้อเสีย ต้องทำในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น อาจมีผลทำให้รอบเดือนผิดปกติประมาณ 1 ปี หลังจากหยุดยา  มีผลข้างเคียงในผู้ใช้บางราย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ น้ำหนักขึ้น เลือดออกกระปริกระปรอย

โอกาสตั้งครรภ์  ต่ำมาก ร้อยละ 0.05

5.ห่วงคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน

ข้อดี ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุดประมาณ 3-5 ปี ทำให้ประจำเดือนออกน้อยลง ลดอาการปวดประจำเดือน ใช้ยาระหว่างให้นมบุตรได้ สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากหยุดยา

ข้อเสีย ต้องทำในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น ห่วงอนามัยอาจหลุดออกหรือทะลุเข้าไปยังผนังมดลูก และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้

โอกาสตั้งครรภ์  ต่ำมาก ร้อยละ 0.1

6.ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดง

ข้อดี ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุดประมาณ 10 ปี  ใช้ยาระหว่างให้นมบุตรได้ สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากหยุดยา

ข้อเสีย ต้องทำในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น ผลข้างเคียงบางราย มีเลือดประจำเดือนมากขึ้นหรือปวดประจำเดือน

โอกาสตั้งครรภ์  ต่ำ ร้อยละ 0.5

7.ถุงยางอนามัย

ข้อดี เป็นวิธีเดียวที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน ใช้ยาระหว่างให้นมบุตรได้ สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากหยุดใช้

ข้อเสีย มีค่าใช้จ่าย อาจจะมีผลต่อความรู้สึกสัมผัสสำหรับผู้ชายบางคน ต้องระวังถุงยางแตก

โอกาสตั้งครรภ์  สูง ร้อยละ 2-15 *ขึ้นอยู่กับถุงยางแตก ฉีด ขาด หรือไม่

  1. แผ่นแปะคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมน

ข้อดี ไม่ต้องรับประทานยา สามารถตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังจากหยุดยา

ข้อเสีย ราคาสูง ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุกสัปดาห์ ประสิทธิภาพของแผ่นแปะคุมกำเนิดอาจลดลง หากผู้ใช้มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 89 กิโลกรัมขึ้นไป อาจจะระคายเคืองบริเวณที่แปะ

โอกาสตั้งครรภ์  ปานกลาง ร้อยละ 0.3-9

9.ยาฆ่าเชื้ออสุจิ

ข้อดี ใช้งานง่าย ราคาไม่แพง มีความปลอดภัย ใช้ยาระหว่างให้นมบุตรได้

ข้อเสีย อาจจะเกิดการระคายเคืองสำหรับบางท่านได้ มีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

โอกาสตั้งครรภ์  สูงมาก ร้อยละ 18-25

10.การหลั่งภายนอก

ข้อดี ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีผลข้างเคียง

ข้อเสีย มีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

โอกาสตั้งครรภ์  สูงมาก ร้อยละ 4-27

11.นับวันระยะปลอดภัย

ข้อดี ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีผลข้างเคียง

ข้อเสีย มีโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

โอกาสตั้งครรภ์  สูงมาก ร้อยละ 9-25

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ลิ่มเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัวมาก เบาหวาน โรคตับและลำไส้ โรคหัวใจ โรคเลือด และลมบ้าหมู สูบบุหรี่ อายุมากกว่า 35 ปี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม

Credit picture:
1. Background photo created by rawpixel.com – www.freepik.com

2.Icon made by Freepik from www.flaticon.com

3.“Your birth control choices” ”.เข้าถึงได้จาก https://www.reproductiveaccess.org/wp-content/uploads/2014/06/contra_choices.pdf.

 

แหล่งอ้างอิง:

1.พบแพทย์ดอทคอม.  “ยาคุมและข้อดีข้อเสียของวิธีคุมกำเนิดแบบต่าง ๆ”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : pobpa d.com.  [07 ม.ค. 2020].

2.ราชวิทยาลัยสูตินารีเวชแห่งประเทศไทย 2553.”การคุมกำเนิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.rtcog.or.th/en/wp-content/uploads/2017/05/articlesfile_943289.pdf. [07 ม.ค. 2020].
  1. “เปรียบเทียบรูปแบบการคุมกำเนิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Comparison_of_birth_control_methods. [07 ม.ค. 2020].
4. “Your birth control choices” ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.reproductiveaccess.org/wp-content/uploads/2014/06/contra_choices.pdf. [18 ม.ค. 2020].

Disclaimer

เราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในเว็บไซด์ แห่งนี้มีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หรือใช้แทนคำการวินิจฉัย การรักษาทางการแพทย์แต่อย่างไร หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบายควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น