รีวิวเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กินอะไรให้คุมน้ำตาลได้ดี ลูกแข็งแรงคุณแม่ปลอดภัย
สวัสดีค่ะ เภว๊าว ว๊าวความรู้คู่สุขภาพ วันนี้จะมีรีวิว เบาหวานขณะตั้งครรภ์นะคะ วิธีกินอาหารยังให้อิ่มและน้ำตาลไม่ขึ้น ลูกแข็งแรง ก่อนอื่นต้องพูดถึงความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง
ความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง
- การแท้งคุกคาม
- ทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติ เช่น ตัวโตผิดปกติทำให้เกิดอันตรายระหว่างคลอด
- เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ทารกในครรภ์เสียชีวิต
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกแรกเกิด
- ภาวะหายใจลำบากในทารกแรกเกิด
- ภาวะตัวเหลืองหลังคลอด
เป้าหมายน้ำตาลสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน
- น้ำตาลหลังจากอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (ดื่มน้ำเปล่าได้) ก่อนอาหารเช้า ก่อนอาหารมื้ออื่น ควรอยู่ในช่วง 60-95 mg/dl
- น้ำตาลหลังอาหาร 1 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 mg/dl
- น้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 120 mg/dl
- น้ำตาลสะสมที่เม็ดเลือด HbA1C ควรอยู่ประมาณ 6-7%
ถ้าสามารถคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์มาตราฐานได้ ก็จะลดความเสี่ยงของ Macrosomia หรือภาวะของทารกที่ตัวโตมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไทด์ได้ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต หรือใช้เครื่องช่วยหายใจหลังคลอดของทารก
เมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
- ควบคุมอาหารโดยแนะนำให้กินอาหารกลุ่ม low glycemic index (คืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ มีกากใยสูง และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงเร็วเกินไป) และอาหารที่มีกากใยสูง โดยมีการศึกษาพบว่าคนที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์และรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงร่วมกับการออกกำลังกายจะลดภาวะทารกตัวโตได้ถึงร้อยละ 15 (4)
– อาหารที่มีค่า GI ต่ำจะอยู่ช่วง 0-55
– อาหารที่มีค่า GI ปานกลาง จะอยู่ช่วง 56-69
– อาหารที่มีค่า GI สูง จะมากกว่า 70
- การออกกำลังกาย โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมในคนที่ไม่มีข้อห้ามในการออกกำลังกาย ไม่ออกกำลังกายแบบกระตุกหรือเคลื่อนไหวเร็วมาก ไม่ออกกำลังกายแบบหนักและเหนื่อยเกินไป สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ว่าสามารถทำได้หรือไม่ การออกกำลังกายอย่างเช่น เดินเล่น เล่นโยคะ หรือว่ายน้ำ ประมาณ 15 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และค่อยๆเพิ่มเป็น 30 นาที 4 ครั้งต่อสัปดาห์ (preg-cal3)(2)
ปริมาณอาหารที่ควรรับประทานขณะเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
โดยปกติในหญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต อย่างน้อยวันละ 175-200 กรัม โปรตีน 71 กรัม และอาหารที่มีกากใย 28 กรัม เหตุผลที่ต้องกินอาหารอยู่ในช่วงที่แนะนำเนื่องจากถ้าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปอาจมีผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นอาหารควรมีปริมาณแคลอรี่ต่อวันและใกล้เคียงกันมากที่สุด
วิธีรับประทานอาหาร
แนะนำให้เลือกรับประทานอาหารที่มีค่าไกลซิมิก อินเด็กซ์ต่ำ อย่างเช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ข้าวโอ๊ต เป็นต้น โดยการรับประทานอาหารให้แบ่งเป็น 5-6 มื้อต่อวัน โดยแบ่งเป็นอาหารเช้า-อาหารว่าง-กลางวัน-อาหารว่าง-เย็น-อาหารว่าง ระหว่างอาหารมื้อหลักและอาหารว่างควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- มื้อหลัก ให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 30-45 กรัม อย่างเช่น ข้าวขาว 100 กรัมให้คาร์โบไฮเดรต 30 กรัม ดังนั้นเราสามารถรับประทานข้าว 100 กรัมและกับข้าวที่ไม่ได้ปรุงรสจัดมาก
- อาหารว่าง ให้รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม อย่างเช่น ฝรั่ง 100 กรัม ให้คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม หรือนม 240 มิลลิลิตรให้คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เป็นต้น
หลังคลอดไปแล้ว 4-12 สัปดาห์จะมีการประเมินภาวะเบาหวานอีกครั้ง หากภาวะเบาหวานปกติ ก็แนะนำให้มีการตรวจติดตามภาวะเบาหวานทุก 3 ปี เนื่องจากประมาณ 50-70% ของคุณแม่ที่เป็นเบาหวานพบว่าอีก 15-25 ปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้
Reference :
- https://care.diabetesjournals.org/content/diacare/suppl/2019/12/20/43.Supplement_DC1/Standards_of_Care_2020.pdf
- Committee on Practice B-O. Macrosomia: ACOG Practice Bulletin, Number 216. Obstet Gynecol. 2020;135(1):e18-e35.
- https://www.dmthai.org/attachments/article/443/guideline-diabetes-care-2017.pdf
![8-bw Web เภว๊าวอาหารเสริม-ยาคุม-ยาลดรอยแผลเป็น-สิว-สมุนไพร-ตัวไหนดี](https://www.bhaewow.com/wp-content/uploads/2023/10/8-bw-Web-เภว๊าวอาหารเสริม-ยาคุม-ยาลดรอยแผลเป็น-สิว-สมุนไพร-ตัวไหนดี.png)
เภสัชกรอิสรีย์นะคะ จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาพและอาหารเสริม หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะคะ ติดต่องาน : LINE @Bhaewow
E-mail : bhaewow@gmail.com
ติดตามเราได้ที่ : Youtube Bhaewow