Tuesday, 3 September 2024

เสริมจมูก ศัลยกรรม ทำไมต้องกินใบบัวบก ช่วยฟกช้ำได้จริงไหม ก่อนกินต้องรู้?

สวัสดีค่ะ เภว๊าว ว๊าวความรู้คู่สุขภาพนะคะ วันนี้จะมาพูดเรื่องใบบัวบก ช่วยเรื่องอะไรนะคะ ทำไมจึงนิยมกินใบบัวบกหลังทำศัลยกรรมหรือกินเพื่อลดรอยช้ำ ใบบัวบกช่วยลดรอยช้ำได้ยังไง

สารสำคัญจากใบบัวบกช่วยสมานแผล?

ใบบัวบกมีการใช้กันมายาวนานมากกว่า 50 ปี โดยสารสำคัญจะอยู่ในส่วนของใบและราก ใบบัวบกจะมีสารสำคัญกลุ่มไตรเทอปินอยด์ (Triterpenoid) ที่เรียกว่า เซนเทลลอยด์ (Centelloids) ประกอบด้วย กรดเอเชียติก (asiatic acid), เอเชียติกโคไซด์ (asiaticoside), กรดแมดิแคสซิค (madecassic acid) และ แมดิแคสโซไซด์ (madecassoside)

กลไกการสมานแผลของใบบัวบก

  • ทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น โดยใบบัวบกจะไปช่วยเร่งให้เซลล์มีการสร้างเส้นใยคอลลาเจน (Collagen synthesis) และเร่งการซ่อมแซมเส้นเลือดที่เสียหายไปให้กลับคืนมา ส่งผลทำให้แผลเกิดกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อใหม่และเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนังที่สร้างใหม่ ซึ่งมีการศึกษาโดยการใช้สารสกัดจากใบบัวบกทาแผลให้กับหนูทดลองวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 24 วันพบว่ามีการสร้างเส้นใยคอลลาเจนและเพิ่มความยืดหยุ่นบริเวณแผลเพิ่มมากขึ้น
  • ลดการเกิดแผลนูน โดยตัวสารสำคัญในใบบัวบกที่ชื่อว่า เอเชียติกโคไซด์ (asiaticoside) สามารถลดพังผืดหรือลดการสร้างเนื้อเยื่อที่มากเกินไป
  • ลดอาการฟกช้ำ โดยใบบัวบกช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยและเพิ่มการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของเนื้อเยื่อ ทำให้ไปลดอาการบวมและการอักเสบของหลอดเลือด
  • ลดอาการเจ็บปวดได้ โดยมีการศึกษาในหนูทดลองพบว่า กรดเอเชียติก (asiatic acid) ซึ่งเป็นสารสำคัญในใบบัวบก สามารถลดอาการปวดของหนูทดลองได้
  • ลดการเกิดการอักเสบของแผล โดยใบบัวบกมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบในเซลล์และมีผลยับยั้งสารต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของเนื้อเยื่อ
  • ต้านเชื้อแบคทรีเรียบางชนิดได้ โดยมีการทดลองการต้านเชื้อแบคทรีเรียของใบบัวบกบนถาดเพาะเชื้อแบคทรีเรียพบว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทรีเรียบางชนิดได้

ด้วยสรรพคุณเหล่านี้จึงทำให้คนที่ทำศัลยกรรม หรือมีอาการฟกช้ำ หายจากแผลได้เร็วขึ้น

คำแนะนำในการใช้ใบบัวบก

แก้ไข้ แก้ร้อนใน ช้ำใน

ขนาดและวิธีใช้ตามคำแนะนำของบัญชียาหลักแห่งชาติ

  • ชนิดชง รับประทานคร้ังละ 2 – 4 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120 – 200 มิลลิลิตร วันละ 3 คร้ัง หลังอาหาร
  • ชนิดแคปซูล รับประทานคร้ังละ 400 มิลลิกรัม (ช่วงขนาดของผงแห้งที่สามารถรับประทานได้ อยู่ที่ 300-680 มิลลิกรัม) วันละ 3 คร้ัง หลังอาหาร
  • ชนิดทา ความเข้มข้นร้อยละ 7 ทาวันละ 1-3 ครั้ง ห้ามใช้กับแผลเปิด

คำเตือนในการใช้ใบบัวบก

1.หลีกเลี่ยงการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน 20-60 วัน เพราะอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ในผู้ป่วยบางราย

2.ไม่ควรใช้สารสกัดใบบัวบกนานเกิน 6 สัปดาห์ กรณีจำเป็นต้องใช้ควรหยุด 2 สัปดาห์ ก่อนจะเริ่มใช้ในรอบถัดไป

3.ควระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีผลต่อตับ ยาขับปัสสาวะ และยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้

4.บัวบกอาจเพิ่มระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด และทำให้ประสิทธิผลของยาลดน้ำตาลและยาลดคอเลสเตอรอลลดลง ดังนั้นคนที่เป็นเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูงอาจจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดจากใบบัวบก

5.ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีกระบวนการเมแทบอลิซึมผ่าน Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากบัวบกมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP2C9 และ CYP2C19 ดังนั้นสำหรับคนที่มีโรคประจำตัว หรือใช้ยาอะไรอยู่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้สารสกัดจากใบบัวบกทุกครั้ง

6.ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออกได้

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ใบบัวบก ได้แก่

ง่วงนอน คลื่นไส้อาเจียน แสบท้อง มวนท้อง ท้องอืด และปัสสาวะบ่อย

สารสกัดจากใบบัวบกเป็นสมุนไพรที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน นอกเหนือจากประโยชน์ในเรื่องของการสมานแผลและลดอาการฟกช้ำ ก็ยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเพิ่มการรับรู้หรือความจำ ช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น แต่หากมีโรคประจำตัวหรือมียาอะไรที่ใช้ประจำอยู่ ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้สารสกัดจากใบบัวบกนะคะ

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ฝากติดตาม บทความต่อไปด้วยนะคะ

Reference:

1.” ใบบัวบก”.บัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชียาสมุนไพร.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://kpo.moph.go.th/webkpo/tool/Thaimed2555.pdf. [8 ก.ย. 2020].

2.”Pharmacological Review on Centella asiatica: A Potential Herbal Cure-all”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttps://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3116297/ . [8 ก.ย. 2020].

Disclaimer

เราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในเว็บไซด์ แห่งนี้มีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หรือใช้แทนคำการวินิจฉัย การรักษาทางการแพทย์แต่อย่างไร หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบายควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น