Tuesday, 19 September 2023

ยาคุมฮอร์โมนต่ำคืออะไร เลือกยังไงให้เหมาะกับตัวเองไม่บวมน้ำ เวียนหัว คลื่นไส้

ยาคุมฮอร์โมนต่ำและยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมมีหลายชนิดหลายรุ่น หากเลือกรุ่นที่ไม่เหมาะกับตัวผู้ใช้ก็อาจจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น อาการเวียนหัว บวมน้ำ คลื่นไส้ เป็นต้น และนอกจากนี้แล้วผู้หญิงหลายๆคนก็มีปัญหาในเรื่องของอาการก่อนมีประจำเดือนไม่ว่าจะเป็นอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น คัดตึงเต้านม อ่อนล้า ซึมเศร้า หรือเป็นสิวจากฮอร์โมน การรับประทานยาคุมฮอร์โมนต่ำก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้ และในบางคนที่รับประทานยาคุมอยู่แล้วมีน้ำหนักตัวเพิ่ม มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ตลอดเวลา อยากจะลองเปลี่ยนยาคุม ลองเปลี่ยนมาเป็นคุมฮอร์โมนต่ำดูค่ะ มาทำความรู้จักยาคุมฮอร์โมนต่ำจากบทความนี้กัน

 

สารบัญบทความ

  1. ประโยชน์ของยาเม็ดคุมกำเนิด
  2. ยาเม็ดคุมกำเนิดมีกี่แบบ
  3. ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนต่ำคืออะไร
  4. เริ่มเลือกยาคุม ยังไงดี
  5. ยกตัวอย่างการเลือกยาคุม
  6. ข้อดียาคุมฮอร์โมนต่ำ
  7. ใช้ยาคุมต้องระวังอะไรบ้าง
  8. ข้อห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

 

1. ประโยชน์ของยาเม็ดคุมกำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดช่วยป้องกันการตกไข่ ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น และทำให้อสุจิผ่านได้ยาก ทำให้เยื่อบุมดลูกบางลงไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ผสมแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาคุมช่วยเสริมฤทธิ์ของโปรเจสโตรเจนและทำให้รอบเดือนเป็นไปตามปกติ ยาเม็ดคุมกำเนิดจะมีประโยชน์ในเรื่องของ

  • ใช้เพื่อการคุมกำเนิด
  • ลดอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งเป็นปัญหากวนใจของหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น คัดตึงเต้านม อ่อนล้า ซึมเศร้า
  • เป็นสิวจากฮอร์โมนหรือโรคทางสูตินารีเวช

การรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฮอร์โมนต่ำก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้ และในบางคนที่รับประทานยาคุมอยู่แล้วทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ตลอดเวลา อยากจะลองเปลี่ยนยาคุม ก็สามารถลองใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนต่ำช่วยได้

 

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดมีกี่แบบ ยาเม็ดคุมกำเนิดจะแบ่งเป็น 2 แบบ

1.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ( Progestin-only pill ) ใน 1 เม็ดจะประกอบด้วยยาฮอร์โมนโปรเจสติน เพียงอย่างเดียว โดยที่โปรเจสตินที่มีปริมาณต่ำจะเหมาะสำหรับผู้หญิงที่ให้นมบุตรหรือผู้ที่มีข้อห้ามใช้เอสโตรเจน ส่วนยาคุมฉุกเฉินจะมีโปรเจสตินปริมาณสูง

2.ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ( Combined pill ) ใน 1 เม็ดจะประกอบด้วยยาฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสติน ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็จะมีปริมาณเอสโตรเจนและชนิดของโปรเจสติน แตกต่างกันออกไป

ยาคุมแบบฮอร์โมนรวม

ทำความเข้าใจกับตัวยาในยาเม็ดคุมกำเนิด

เอสโตรเจน

ในยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมชนิดเม็ดแบบรับประทาน แบบฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ดในท้องตลาดจะมีประมาน 4 ขนาด ได้แก่ เอทินิล เอสทราไดออล ( Ethinyl estradiol ตัวย่อ EE ) ขนาด 15 ไมโครกรัม 20 ไมโครกรัม 30 ไมโครกรัม 35 ไมโครกรัม โดยยาคุมที่มี EE ขนาด 15 และ 20 ไมโครกรัม ตามความเข้าใจทั่วไปจะเรียกว่า ยาคุมฮอร์โมนต่ำ ซึ่งการลดขนาดของเอสโตรเจนในยาคุมจะช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ของยาคุมในเรื่องของอาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน บวมน้ำ เจ็บคัดเต้านม และเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดฝ้าจากฮอร์โมนลดลง

โปรเจสติน

มีประมาณ 4 รุ่น แต่ถ้าทำความเข้าใจง่ายๆฮอร์โมนรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 เป็นฮอร์โมนที่พัฒนาเพื่อจะลดผลข้างเคียงในเรื่องของอาการผิวมัน สิวขึ้น ขนดก เพิ่มความอยากอาหาร บวมน้ำ โปรเจสตินรุ่นหลังๆจะเป็นที่นิยมใช้ ได้แก่

  • เดสโซเจสเทรล ( Desogestrel ) มีอยู่ในชื่อการค้า มินนี่ ( Minny® ) ริต้า ( Rita® ) เมอซิลอน ( Mercilon® ) มาร์วิลอน ( Marvelon® )
  • เจสโตรดีน ( Gestrodene ) มีอยู่ในชื่อการค้า เมลิแอนน์ ( Meliane)
  • ไซโปรเตอโรน อะซิเตท ( Cyproterone acetate ) มีอยู่ในชื่อการค้า ไดแอน ( Diane® ) พรีม ( Preme® )
  • คลอร์มาดินวัน อะซิเตท ( Chlormadinone acetate ) มีอยู่ในชื่อการค้า บีลาร่า ( Belara® )
  • โดรสไพริโนน (Drospirenone) มีอยู่ในชื่อการค้า เฮอร์ซ ( Herz® ) ยาส ( Yaz® ) ยาสมิน ( Yasmin® )

ยาคุมฮอร์โมนต่ำ เลือกยาคุมครั้งแรก

3. ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบออร์โมนต่ำคืออะไร?

ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบออร์โมนต่ำคือ ยาคุมที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน และ โปรเจสติน โดยมีปริมาณเอสโตรเจนอยู่ที่ 15 หรือ 20 ไมโครกรัม ซึ่งส่งผลให้ลดอาการข้างเคียงหรือลดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนมากกว่า 20 ไมโครกรัม เช่น อาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน บวมน้ำ เจ็บคัดเต้านม กระตุ้นให้เกิดฝ้าจากฮอร์โมนลดลง เป็นต้น

เลือกยาคุมครั้งแรก ยาคุมฮอร์โมนต่ำ

4. เริ่มเลือกยาคุมยังไงดี

  1. ดูที่ตัวยา – ดูที่ปริมาณเอสโตรเจน

    สำหรับคนที่ไม่เคยกินยาเม็ดคุมกำเนิดมาก่อน เริ่มจากการเลือกยี่ห้อของยาเม็ดคุมกำเนิด อาจจะเริ่มจากยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนต่ำก่อน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจน 20 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนต่ำแต่ไม่ได้ต่ำที่สุดในท้องตลาด ก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน บวมน้ำ เจ็บคัดเต้านม การเกิดฝ้าได้ สำหรับคนที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดแล้วมีอาการบวมน้ำ เวียนหัว มีฝ้าเกิดขึ้นมากผิดปกติ อยากลองปรับเปลี่ยนยาคุม สามารถลองเปลี่ยนมาเป็นตัวที่มีเอสโตรเจนลดลง ดูที่ชนิดโปรเจสติน จากที่กล่าวไปข้างต้นพบว่าตัวโปรเจสตินมีหลายรุ่น โดยอาจจะเลือกโปรเจสตินรุ่นหลังเพื่อลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนลง เช่น ผิวมัน ขนดก สิวขึ้น เป็นต้น

  2. เลือกแบบ 21 เม็ด หรือ 28 เม็ด

    สำหรับยาคุมที่มีตัวยาฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ด สามารถเลือกใช้แบบ 21 เม็ดหรือ 28 เม็ดก็ได้ เนื่องจากในแผง 28 เม็ด จะมีตัวยาฮอร์โมน 21 เม็ด และมีเม็ดยาหลอก 7 เม็ด แต่การเลือกใช้แบบ 28 เม็ดจะทำให้เราไม่ลืมกินยา ไม่ต้องนับไปอีก 7 วันเหมือนการกินแบบ 21 เม็ด เมื่อกินหมดแผง 28 เม็ดแล้วสามารถกินแผงใหม่ต่อไปได้เลย ดูวิธีกินยาเม็ดคุมกำเนิด แบบ 21 และ 28 เม็ด

  3. ดูที่ราคา

    ยาคุมจะมีช่วงราคาค่อนข้างกว้างเนื่องจากการกินยาคุมเป็นค่าใช้จ่ายต่อเนื่องทุกเดือน ผู้ใช้สามารถเลือกราคาที่เหมาะสมสำหรับตัวเองได้ มีตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อย

 

5. ยกตัวอย่างการเลือกยาคุม

ยาคุมยี่ห้อมินนี่ ( Minny® ) เมอซิลอน ( Mercilon® ) เป็นยาคุมฮอร์โมนต่ำมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ที่ 20 ไมโครกรัม ทำให้เกิดอาการข้างเคียงในเรื่องของคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ บวมน้ำ เจ็บคัดเต้านม เกิดฝ้า ได้น้อยกว่ายาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงๆ มีฮอร์โมนโปรเจสตินชื่อว่า เดสโซเจสเทรล ( Desogestrel ) เป็นฮอร์โมนรุ่นที่ 3 ซึ่งจะทำให้เกิดผิวมัน ขนดก สิวขึ้น น้อยกว่ายาคุมรุ่นแรกๆ ไม่กระตุ้นความอยากอาหาร และไม่ผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับไขมันในเลือด มีให้เลือกทั้งแบบ 21 และ 28 เม็ด และราคายาไม่สูงมาก อยู่ช่วงกลางๆประมาน 120-150 บาท สำหรับคนที่น้ำหนักตัวมากมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 kg/m2 แนะนำให้ใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 30 ไมโครกรัมแทน เช่น ยาคุมยี่ห้อริต้า ( Rita®) มาร์วิลอน ( Marvelon® )

ตัวอย่างยาคุมมินนี่ริต้า ข้อดี

6. ข้อดีของยาคุมฮอร์โมนต่ำ

  1. ลดอาการข้างเคียง ไม่เวียนหัว ไม่อ้วน ไม่ฝ้า ไม่เจ็บคัดเต้านม ไม่บวมน้ำ
  2. ลดอาการก่อนมีประจำเดือน
  3. ลดความเสี่ยงต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

 

7. ใช้ยาคุมต้องระวังอะไรบ้าง

  1. อาจจะทำให้เลือดออกกะปริบกะปรอย ในช่วง 2-3 แผงแรก เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัว แต่หากยังมีอาการหลังจากหมด 2-3 แผงแรกไปแล้วอาจจะเป็นยาคุมสูตรที่มีปริมาณเอสโตรเจนสูงขึ้น เช่น ริต้า ( Rita® ) มาร์วิลอน ( Marvelon® ) เป็นต้น
  2. ห้ามลืมกินยา หรือกินยาตรงเวลาสม่ำเสมอทุกวัน เนื่องจากมีโอกาสท้องสูงกว่ายาคุมที่มีปริมาณเอสโตรเจนสูงกว่า

 

8. คนที่มีข้อห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

สำหรับคนที่ต้องการใช้ยาคุมกำเนิด ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีและสูบบุหรี่ มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ เบาหวาน ความดัน มีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด กำลังหรือเคยเป็นมะเร็งเต้านม เป็นไมเกรน วางแผนจะผ่าตัดและใช้ยาโรคประจำตัว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา สำหรับคนที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแล้วมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงปวดหัวรุนแรง ไมเกรน ตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก หรือหัวใจเต้นแรง ปวดท้องรุนแรง แนะนำให้หยุดยาและไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

ข้อห้ามใช้ยาคุุมข้อห้ามใช้ยาคุม ข้อควรระวัง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเก็บรักษา และการกินยาอย่างสม่ำเสมอตรงต่อเวลา และปัจจัยอื่นๆ ในเรื่องของอาการข้างเคียงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ ฝากติดตามบทความต่อไปด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

Reference :

  1. Birth control. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/birth-control/in-depth/best-birth-control-pill/art-20044807
  2. Low-Dose and Ultra-Low-Dose Birth Control Pills. https://www.webmd.com/sex/birth-control/low-dose-birth-control-pills.
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK563211/
Disclaimer

เราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในเว็บไซด์ แห่งนี้มีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หรือใช้แทนคำการวินิจฉัย การรักษาทางการแพทย์แต่อย่างไร หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบายควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น