สวัสดีค่ะเภว๊าว ว๊าวความรู้คู่สุขภาพ วันนี้จะมาพูดถึงการเลือกครีมกันแดดนะคะ
ในปัจจุบันมีครีมกันแดดมากมายหลายยี่ห้อจนเลือกไม่ถูกว่าควรใช้แบบไหนยี่ห้อไหนดี วันนี้จะมาแนะนำการเลือกครีมกันแดดกันนะคะ ก่อนที่จะมาเลือกครีมกันแดด เราต้องรู้ก่อนว่าแสงแดดนั้นมีรังสีอะไรบ้าง? และแสงจาก smartphone หรือคอมพิวเตอร์มีผลอย่างไรต่อผิวบ้าง ในแสงแดดนั้นจะมีรังสี UVC UVB และ UVA ซึ่งรังสี
– UVC จะมีความยาวคลื่นแสงอยู่ที่ 200-290 นาโนเมตร เป็นรังสีที่อันตรายต่อเซลล์ผิวมาก แต่จะถูกชั้น Ozone ของโลกกรองไว้ ซึ่งรังสีนี้จะผ่านชั้น Ozone ลงมาได้น้อยมาก
– UVB จะมีความยาวคลื่นแสงอยู่ที่ 290-320 นาโนเมตร สามารถเข้าทำลายผิวหนังชั้นนอก (epidermis) โดยทำลายเซลล์ผิวหนัง และเมื่อผิวหนังได้รับรังสี UVB แล้วจะทำให้เซลล์เมลาโนไซด์ ( Melanocyte ) สร้างเม็ดสีที่ชื่อว่า เมลานิน (Melanin) ทำให้เป็นจุดด่างดำและผิวคล้ำเสียบนผิวหนัง รังสี UVB สามารถทำให้เกิดผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) รอยแดง ลอก และตุ่มน้ำ หากได้รับสะสมเป็นเวลานานจะเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น และหากได้รับปริมาณมากไปจะเป็นมะเร็งผิวหนังได้
– UVA จะมีความยาวคลื่นแสงอยู่ที่ 320-400 นาโนเมตร สามารถเข้าทำลายผิวหนังชั้นใน (dermis) โดยสามารถผ่านเข้าไปใต้ชั้นผิวหนังได้ลึกถึงชั้นล่างของหนังแท้ ทำลายคอลลาเจนที่ชั้นผิวหนัง ทำให้เกิด ริ้วรอย หย่อนคล้อย และผิวเสื่อมสภาพจากแสงแดด
– Visible light (Blue light) จะมีความยาวคลื่นแสงอยู่ที่ 400-760 นาโนเมตร มักพบได้จากจอโทรศัพท์ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ผิวคล้ำเสียและทำให้เกิดริ้วรอย
เมื่อเรารู้จักรังสี UV ทำลายผิวแล้ว เรามาเลือกครีมกันแดดกันดีกว่าค่ะ การเลือกครีมกันแดดโดยการเลือกจาก
1.ค่ากันแดดที่ออกฤทธิ์กว้าง(Broad spectrum activity)
2.ประสิทธิภาพในการป้องกันแสง UVA และ UVB (Sun protection factor)
3.ชนิดของสารกันแดด (Sunscreen ingredient)
4.รูปแบบของกันแดด (Formulation)
5.คุณสมบัติอื่นๆ
1.ค่ากันแดดที่ออกฤทธิ์กว้าง (Broad spectrum activity) โดยเลือกกันแดดที่สามารถป้องกันแสงที่ความยาวคลื่น 290-400 นาโนเมตรเนื่องจากสามารถป้องกันโรคและผลเสียต่อผิวหนังได้มากที่สุด โดยบนหลอดของกันแดด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากฝั่งอเมริกาจะเขียนว่า “Broad spectrum sunscreens” และหากต้องการกันแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือด้วยอาจจะต้องเลือกกันแดดที่ป้องกันแสงที่มีความยาวคลื่นครอบคลุมถึง 500 นาโนเมตร โดยบนหลอดของกันแดดจะเขียนว่า “Blue light protection” หรือดูจากส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ซึ่งจะกล่าวต่อไป
2.ประสิทธิภาพในการป้องกันแสง UVA และ UVB (Sun protection factor)
ประสิทธิภาพในการกันแสง UVA ในปัจจุบันยังไม่มีการวัดไปในทิศทางเดียวกันในแต่ละประเทศ โดยในญี่ปุ่น (The japan cosmetic industry association) จะใช้สัญลักษณ์ PA system ถ้า PA++++ แสดงว่ากันแดดนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ได้มากที่สุด ได้ส่วนในยุโรปกันแดดที่ดีจะสามารถกันรังสี UVB และ UVA แตกต่างกันไม่น้อยกว่า 3 เท่าหรือมีค่าใกล้เคียงกันมากที่สุดจะแสดงสัญลักษณ์ UVA และมีวงกลมล้อมรอบ
ประสิทธิภาพในการกันแสง UVB โดยวัดจากค่า SPF (Sunburn protection factor) คือค่ากันแดดที่ป้องกันผิวหนังแดง โดยปกติผิวหนังจะแดงเมื่อโดนแดด 10 นาที แต่เมื่อทากันแดด SPF 30 จะทำให้มีอาการแดงของผิวหนังนานขึ้นเป็น (10×30) 300นาที ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างค่า SPF กับประสิทธิภาพในการป้องกันแสง UVB พบว่า SPF20 สามารถป้องกันแสงที่ทำให้เกิดรอยแดงได้ 95% และ พบว่า SPF40 สามารถป้องกันแสงที่ทำให้เกิดรอยแดงได้ 97.5% ซึ่ง US FDA แนะนำใช้กันแดดที่มีค่าSPF อย่างน้อย 15 ก่อนออกกลางแจ้งเสมอ
3.ชนิดของสารกันแดด (Sunscreen ingredient) เป็นแบบ chemical sunscreens และ physical sunscreens โดย Chemical sunscreens (Organic sunscreens) ในปัจจุบันยังไม่มีตัวไหนที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVB และ UVA ต้องใช้หลายตัวผสมกันเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกัน ส่วน Physical sunscreens (Inorganic sunscreens) จะเป็นกลุ่มสารเคมีที่มีคุณสมบัติทึบแสง titanium dioxide (TiO2), zinc oxide (ZnO) ทำให้แสงไม่สามารถส่องผ่านไปยังผิวหนังได้ จึงสามารถป้องกันได้ทั้งแสง visible light, แสง UVA , และแสง UVB โดยที่ไม่ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับ ผิวหนัง และเนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีอนุภาคขนาดใหญ่จึงดูดซึมได้น้อยมากและไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง จึงปลอดภัยหากใช้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป และมีผลในการป้องกันแสงแดดได้ทันที โดยที่ titanium dioxide (TiO2), zinc oxide (ZnO) มีคุณสมบัติในการป้องกันแสงได้ตั้งแต่ช่วง 290 จนถึง visible light ที่ 400-760 นาโนเมตร นั่นหมายความว่ากันแดดที่มีสาร 2 ตัวนี้ก็จะสามารถป้องกันแสงสีฟ้า Blue light และแสงอินฟาเรตได้เช่นกัน
4.รูปแบบของกันแดด (Formulation) กันแดดในท้องตลาดมีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นเราจึงควรเลือกรูปแบบกันแดดให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการกันแดด โดยกันแดดจะมีในรูปแบบอิมัลชันได้แก่ ครีม โลชั่น รูปแบบเจล รูปแบบแอโรซอลสเปรย์
– กันแดดรูปแบบครีมหรือโลชั่น มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบและนิยมใช้กันมากที่สุด ข้อดีคือกระจายตัวและยึดติดบนผิวได้ดี ข้อเสียคือในบางผลิตภัณฑ์หากมี SPF สูงๆเนื้อครีมอาจมีความหนืดมากขึ้นทำให้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะและเกลี่ยได้ยาก
– กันแดดรูปแบบเจล เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นในเรื่องเนื้อผลิตภัณฑ์ ใส เกลี่ยง่าย ไม่เหนอะหนะเท่ากับแบบครีม โลชั่น ข้อเสียคือ มักมีราคาแพง และไม่กันน้ำหรือเหงื่อ
– กันแดดรูปแบบแอโรซอล เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดฉีดพ่นหรือสเปรย์ มีข้อดีคือ ใช้กับผิวหนังบริเวณกว้างได้ง่าย แต่ข้อเสียที่พบได้คือ มักเกิดฟิล์มที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UV ลดลง อีกทั้งในรูปแบบสเปรย์หากสเปรย์ในที่ที่มีลมแรงอาจทำให้เราสูดละอองของสารกันแดดเข้าไปซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อปอดได้ และไม่แนะนำให้ใช้สเปรย์กันแดดบริเวณผิวหน้าเนื่องจากไม่สามารถกำหนดปริมาณและอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาขณะสเปรย์
5.คุณสมบัติอื่น ๆที่อาจจะพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับการเลือกกันแดด คือ กันแดดคุณสมบัติกันน้ำ (Water resistant) ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่เหงื่อออกง่ายและเหงื่อออกมาก และคนที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดย Water resistance product คือ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากที่เรามีเหงื่อออก
Credit picture: ภาพโดย AdoreBeautyNZ จาก Pixabay
Further reading:
https://www.webmd.com/beauty/features/sunscreen#1
https://www.fda.gov/drugs/understanding-over-counter-medicines/sunscreen-how-help-protect-your-skin-sun
References:
1.ภัทร์สวันต์ ภูอมรกุล 2559.การเลือกยากันแดดอย่างมีประสิทธิภาพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก 74299-Article%20Text-176546-2-10-20170309.pdf. (14 ก.พ. 2563)
2. ชุติมณฑน์ อุดมเกียรติกูล.ผลิตภัณฑ์กันแดดปกป้องผิวอย่างไร.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=38. (14 ก.พ. 2563)
3.Cancer Council Victoria .Sunscreen. [Internet]. Available from: https://www.sunsmart.com.au/downloads/resources/info-sheets/sunscreen-info-sheet.pdf .(Cited 14 Feb 2020)
4. N.Arjmadi.Can light emitted from smartphone screens and taking selfies cause premature aging and wrinkles. [Internet]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6280109/.(Cited 14 Feb 2020)

เภสัชกรอิสรีย์ (นิก) นะคะ จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาพและอาหารเสริม หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะคะ ติดต่องาน : LINE @Bhaewow
E-mail : bhaewow@gmail.com
ติดตามเราได้ที่ : Youtube Bhaewow