Thursday, 16 January 2025

ซิงค์รักษาสิว ลดการเกิดสิวอย่างไร กินยังไงให้ได้ผล ซิงค์ลดสิวจริงไหม

สวัสดีค่ะ เภว๊าว ว๊าวความรู้คู่สุขภาพ
วันนี้จะมีพูดถึง แร่ธาตุซิงค์ (Zinc) หรือสังกะสี ซึ่งซิงค์จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับคนเป็นสิว หลังจากที่หลายคนอาจจะใช้ยาทารักษาสิว และยารับประทานสำหรับสิวแล้วยังมีสิวที่เกิดจากสาเหตุความมันของผิวและนำไปสู่การเกิดสิวอักเสบ มาดูกันว่าซิงค์มีประโยชน์ช่วยเรื่องสิวและลดสิวได้อย่างไร ซึ่งซิงค์เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกายแต่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เองดังนั้นโดยปกติแล้วเราจะได้รับแร่ธาตุซิงค์จากการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หอยนางรม และถั่วต่างๆ
ซิงค์มีประโยชน์ต่อผิวอย่างไร
มักจะพบการใช้ซิงค์ในการป้องกันอันตรายจากแสงแดด ใช้ผสมในแชมพูเพื่อลดรังแคบนหนังศีรษะ ซิงค์ยังใช้เป็นอาหารเสริมโดยการรับประทานซิงค์จะไป ต้านเชื้อแบคทรีเรีย ลดการอักเสบ ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการผลิตน้ำมันที่ผิวทำให้เกิดสิว
ซิงค์มีกี่แบบ ต้องดูยังไง
ซิงค์ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะอยู่ในรูปแบบฟอร์มของเกลือต่างๆ ได้แก่ ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate) ให้ซิงค์ 22.7% ซิงค์ซิเตท (Zinc citrate) ให้ซิงค์ 34.2% ซิงค์กลูโคเนท (Zinc gluconate) ให้ซิงค์ 14% ซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) ให้ซิงค์ 80% ซิงค์อะซิเตท (Zinc acetate) ให้ซิงค์ 30% โดยการรับประทานซิงค์เพื่อรักษาสิวพบว่า ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulfate) และซิงค์กลูโคเนท (Zinc gluconate) จะมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวที่มีความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก

ตารางเปรียบเทียบการให้ซิงค์ของเกลือซิงค์แต่ละชนืด

โดยเวลาที่เราเลือกผลิตภัณฑ์จะดูว่าเป็นซิงค์ที่อยู่ในรูปแบบเกลืออะไร แล้วเกลือนั้นให้ซิงค์เป็นกี่มิลลิกรัม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วบนฉลากของผลิตภัณฑ์จะมีรายละเอียดเอาไว้ชัดเจน เช่น วิสตร้าซิงค์ เป็นซิงค์อะมิโน แอซิดคีเลต 66.67 มิลลิกรัม ให้ซิงค์ 15 มิลลิกรัม เป็นต้น
ขนาดซิงค์ที่ควรรับประทานในการลดสิว
โดยปกติแล้วการรับประทานซิงค์จะมีขนาด 15-40 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งพบว่ามีการใช้ซิงค์ในการรักษาสิวอยู่ที่ 30-150 มิลลิกรัมต่อวัน แต่อยากแนะนำให้ใช้ขนาดที่ไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน ใช้ระยะเวลา 3 เดือนถึงจะเห็นผล เนื่องจากหากรับประทานขนาดที่สูงเกินไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดเกร็งท้องหรือระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
การรับประทานซิงค์
จะรับประทานตอนท้องว่างก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2-3 ชั่วโมง แต่หากรับประทานแล้วรู้สึกคลื่นไส้จึงเปลี่ยนมารับประทานหลังอาหารทันทีแต่อาจจะมีผลต่อการดูดซึมซิงค์ได้
ข้อควรระวังในการรับประทานซิงค์
1.หากรับประทานมากเกินไปลดการดูดซึมของธาตุทองแดงซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางได้
2.ซิงค์ลดการดูดซึมของยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น เตตร้าไซคลีน (Tetracycline) โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) เป็นต้น
3.ห้ามกินร่วมกับอาหารที่มีไฟเตท (pytate) เช่น เมล็ดถั่ว ธัญพืช เนื่องจากจะไปลดการดูดซึมของซิงค์ได้

Reference:
1. “New and emerging treatments in dermatology: acne”. Dermatologic therapy 2008. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://piel-l.org/blog/wp-content/uploads/2011/03/New-and-emerging-Dermatol_Ther_2008_Mar-Apr_21286-95.pdf. [2 มิ.ย. 2020].
2. “Zinc Therapy in Dermatology : A Review”. Dermatol Res Pract 2014. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4120804/ . [2 มิ.ย. 2020].
3. “Zinc”. WebMD. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-982/zinc . [2 มิ.ย. 2020].
4. “Zinc for acne : The ultimate guide to erasing acne with zinc” .Acneeinstein. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttps://www.acneeinstein.com/zinc-for-acne/#gref . [2 มิ.ย. 2020].

Disclaimer

เราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในเว็บไซด์ แห่งนี้มีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หรือใช้แทนคำการวินิจฉัย การรักษาทางการแพทย์แต่อย่างไร หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบายควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น