Tuesday, 3 September 2024

น้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาต่างกันยังไง เลือกยังไง กินได้ทุกคนไหม

สวัสดีค่ะ เภว๊าว ว๊าวความรู้คู่สุขภาพ วันนี้จะมาพูดถึงความแตกต่างของน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลากันนะคะ หลายคนคงสงสัยว่าแต่ละตัวแตกต่างกันยังไง จะเลือกแบบไหนดี
น้ำมันตับปลาและน้ำมันปลาต่างเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ แต่มาจากแหล่งที่แตกต่างกัน โดยประโยชน์ของน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาต่างเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 (Omega-3) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งในโอเมก้า 3 (Omega-3) จะประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวมีชื่อว่าอีพีเอ Eicosapentaenoic acid (EPA) และดีเอชเอ Docosahexaenoic acid (DHA)

ความแตกต่างของน้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา
หลายคนคงสงสัยว่าน้ำมันทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกันอย่างไร น้ำมันทั้ง 2 ชนิดเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 (Omega-3) แต่จะมีความแตกต่างของกรดไขมันไม่อิ่มตัวในโอเมก้า 3(Omega-3) คือปริมาณของอีพีเอ (EPA) และดีเอชเอ (DHA)
1.น้ำมันตับปลา คือน้ำมันที่สกัดจากตับปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาค็อด ซึ่งเป็นปลาทะเล ทะเล น้ำมันตับปลาจะมีปริมาณอีพีเอ (EPA) ร้อยละ 9 และดีเอชเอ (DHA) ร้อยละ 14 และมีวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตาและวิตามินดีที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ
2.น้ำมันปลา คือน้ำมันที่สกัดจากเนื้อหรือตัวของปลา ส่วนน้ำมันปลาจะมีปริมาณอีพีเอ (EPA) ร้อยละ 18 และดีเอชเอ (DHA) ร้อยละ 12 และผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มักจะมีวิตามินอีเป็นส่วนประกอบ

กรดไขมันอีพีเอ Eicosapentaenoic acid (EPA) และดีเอชเอ Docosahexaenoic acid (DHA) ช่วยเรื่องอะไร
– กรดไขมันอีพีเอ จะมีคุณสมบัติช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ช่วยลดการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการปวด บวมและอักเสบตามข้อ ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ และสมองขาดเลือด และอาจช่วยลดภาวะซึมเศร้าระยะเริ่มต้นได้
– กรดไขมันดีเอชเอ จะมีคุณสมบัติช่วยบำรุงเซลล์ประสาทเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ ความจำ เป็นส่วนประกอบสำคัญของสมองและดวงตา ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลือกตัวไหนดีระหว่างน้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา
อาจจะต้องดูจากส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้น ๆว่ามีมีปริมาณของอีพีเอ (EPA) และดีเอชเอ (DHA) จำนวนเท่าไหร โดยหากต้องการลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวด บวมหรืออักเสบตามข้อ รวมถึงในคนที่ต้องการเสริมในเรื่องของวิตามินเอและวิตามินดี อาจจะเลือกตัวที่มีปริมาณของอีพีเอ (EPA) มากกว่าดีเอชเอ (DHA) ส่วนคนที่ต้องการในเรื่องของการบำรุงสมอง การเรียนรู้และความจำ อาจจะเลือกตัวที่มีปริมาณของดีเอชเอ (DHA) มากกว่าอีพีเอ (EPA)

ขนาดที่แนะนำตามองค์การอนามัยโลก
ขนาดที่แนะนำให้รับประทานจะแนะนำให้มีปริมาณอีพีเอ (EPA)และดีเอชเอ (DHA)รวมกันอยู่ที่ 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วไปจะมีปริมาณน้ำมันปลาอยู่ประมาณ 1000 มิลลิกรัมต่อเม็ด แต่จะให้ปริมาณอีพีเอ (EPA)และดีเอชเอ (DHA) แตกต่างกันออกไปในแต่ละผลิตภัณฑ์
ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา
1.ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ปลาทะเล
2.น้ำมันตับปลาจะมีปริมาณวิตามินเอและวิตามินดีสูง ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันอาจจะสะสมในร่างกายได้ แต่หากรับประทานในขนาดที่แนะก็จะไม่สะสมจนเป็นอันตราย
3.ควรหยุดการรับประทานน้ำมันตับปลาและน้ำมันปลาก่อนผ่าตัด 7 วัน เนื่องจากคุณสมบัติของอีพีเอ (EPA) อาจจะทำให้เลือดแข็งตัวช้าและเป็นอันตรายได้
4.คนที่รับประทานยาแอสไพริน (aspirin) และวาฟาริน (warfarin) ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา เพราะอาจจะมีปฏิกิริยากับยา ทำให้เกิดภาวะเลือดออกหรือทำให้เลือดหยุดช้าได้
5.คนที่มีโรคประจำตัวโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือต้องควบคุมระดับไขมันในเลือด อาจจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานน้ำมันตับปลาและน้ำมันปลา.
น้ำมันตับปลาและน้ำมันปลาต่างเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ที่มีประโยชน์ในเรื่องของการลดการอักเสบ ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ และเสริมสร้างการทำงานของสมอง อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และการรับประทานปลาทะเลอย่างเพียงพอก็สามารถทำให้เราได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หากมีโรคประจำตัวหรือใช้ยาอะไรประจำอยู่แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้งนะคะ
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ ฝากติดตามบทความต่อไปด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

Reference:
1.”Cod liver oil and fish oil”. Thera health vibrant living. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://therahealth.com.au/cod-liver-oil-vs-fish-oil/#:~:text=Cod%20liver%20oil%20is%20extracted,%25%20EPA%20and%2012%25%20DHA . [17 ก.ย. 2020].
2.”ประโยชน์ของน้ำมันตับปลา”. นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ@RAMA. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttps://med.mahidol.ac.th/atrama/issue011/healthy-eating . [17 ก.ย. 2020].

Disclaimer

เราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในเว็บไซด์ แห่งนี้มีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หรือใช้แทนคำการวินิจฉัย การรักษาทางการแพทย์แต่อย่างไร หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบายควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น