สวัสดีค่ะเภว๊าว ว๊าวความรู้คู่สุขภาพนะคะ
วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องตกขาว (Leukorrhea) กันนะคะ ตกขาวมีกี่แบบ แบบไหนต้องรักษาหรือกินยา
ตกขาวเกิดจากอะไรทำไมถึงเป็นตกขาว?
ในสภาวะปกติช่องคลอดจะมีตกขาวเป็นปกติเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับช่องคลอดและป้องกันการติดเชื้อภายในช่องคลอด โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนของคุณผู้หญิงจะไปกระตุ้นให้เยื่อบุช่องคลอดสะสมไกลโครเจนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่องคลอดจะมีแบคทรีเรีย Lactobacillus อาศัยอยู่ โดยแบคทรีเรียชนิดนี้จะสร้างสมดุลความเป็นกรดด่างให้กับช่องคลอดโดยการไปเปลี่ยนไกลโครเจนให้เป็นกรดแลคติก (Lactic acid) ทำให้สภาพแวดล้อมในช่องคลอดมีค่า pH น้อยกว่า 4.5 ทำให้ให้แบคทรีเรียก่อโรคและเชื้อก่อโรคอื่นๆไม่สามารถอาศัยอยู่ในช่องคลอดได้
ตกขาวปกติเป็นแบบไหน?
ก่อนอื่นเลยต้องพูดถึงตกขาวทั่วไปของคุณผู้หญิงที่เป็นปกติก่อนนะคะ ตกขาวทั่วไปจะเป็นตกขาวสีขาวหรือสีใส มีปริมาณไม่มาก ไม่มีกลิ่น และไม่มีอาการคัน ในช่วงกลางรอบเดือนที่มีไข่ตกคุณผู้หญิงจะมีตกขาวเป็นสีใสเป็นปริมาณมาก
ตกขาวผิดปกติเป็นแบบไหน?
ตกขาวผิดปกติจะมีสีขาวขุ่นเป็นก้อน คล้ายโยเกิร์ต หรือแป้งเปียก มีกลิ่นที่ผิดปกติ หรือมีสีที่เปลี่ยนไป อย่างเช่นสีเหลือง สีเทา หรือตกขาวมีเลือดปน ร่วมกับมีอาการคัน มีอาการแสบเวลามีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อย หรือมีไข้ร่วมด้วย
ตกขาวติดเชื้อที่พบบ่อยอาการแบบไหน?
ตกขาวที่พบบ่อยมักจะเกิดจากเชื้อรา เชื้อแบคทรีเรีย และเชื้อปรสิต (โปรโตซัว)
1. ตกขาวจากเชื้อราชื่อว่า แคนดิดา (Candida) โดยเชื้อที่พบมากที่สุดคือ Candida albicans อาการจะมีตกขาวเป็นน้ำไปจนถึงเหนียวข้น สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนๆ คล้ายคราบนม เนื้อหยาบไม่มีกลิ่นอาจจะมีปริมาณมากหรือน้อย และมักพบว่ามีอาการก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ ในบางคนอาจจะมีอาการบวมและลอกบริเวณอวัยวะเพศ และมีอาการคันมากบริเวณช่องคลอดและบริเวณที่อับชื้นเช่นขาหนีบ หากคู่นอนมีอาการต้องรักษาคู่นอนด้วยโดยจะมีอาการแสบร้อน ผื่นแดง และอาการคันบริเวณปลายอวัยวะเพศ
สาเหตุของการตกขาวที่เกิดจากเชื้อราได้แก่ การตั้งครรภ์ ยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ การรับประทานยา ปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ สตรีวัยหมดประจำเดือน อากาศร้อนและการใส่เสื้อผ้าที่รัดรูป
การรักษาตกขาวจากเชื้อรา โดยใช้ยารับประทานฆ่าเชื้อรา เช่น Fluconazole ยาทา และยาสอดช่องคลอด เช่น Clotrimazole ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกรตามร้านขายยาได้ แต่หากใช้ยาเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นต่อไป
2. ตกขาวจากเชื้อแบคทรีเรีย อาการจะมีตกขาวขุ่นหรือสีเทา ตกขาวสีเขียวหรือสีเหลือง มีกลิ่นเหม็นคาวปลาหรือกลิ่นอับ และมีกลิ่นมากหลังมีเพศสัมพันธ์ ในบางคนอาจจะรู้สึกคันและแสบภายใน
สาเหตุของการตกขาวที่เกิดจากเชื้อแบคทรีเรีย เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ การสวนล้างช่องคลอด การขาดเชื้อประจำถิ่นแบคทรีเรีย Lactobacillus ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูง การใช้ห่วงอนามัย
การรักษาตกขาวจากเชื้อแบคทรีเรีย โดยใช้ยารับประทานฆ่าเชื้อแบคทรีเรียหรือยาทา เช่น Metronidazole ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกรตามร้านขายยาได้ แต่หากใช้ยาเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นต่อไป ระหว่างที่รับประทานยา Metronidazole แนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการ Disulfiram like reaction คือมีอาการเหงื่อออก คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ หายใจลำบาก หากต้องรับประทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมสามารถรับประทานหลังจากที่กินยาครบคอร์สไปแล้วอย่างน้อย 3 วัน
3. ตกขาวจากเชื้อปรสิต (โปรโตซัว) อาการจะมีตกขาวคล้ายหนองมีกลิ่นเหม็นคาวคล้ายปลาเค็ม มีปริมาณมาก ในบางคนตกขาวมีสีเขียวเป็นฟอง มีอาการแสบร้อนและคันบริเวณปากช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์หรือเลือดออกหลังร่วมเพศ
สาเหตุของการตกขาวที่เกิดจากเชื้อปรสิต เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ติดเชื้อเพิ่มจากการติดเชื้อแบคทรีเรีย
การรักษาตกขาวจากเชื้อปรสิต โดยใช้ยารับประทานฆ่าเชื้อแบคทรีเรีย เช่น Metronidazole ยาสอดช่องคลอด เช่น Clotrimazole ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกรตามร้านขายยาได้ และต้องรักษาคู่นอนด้วย แต่หากใช้ยาเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นต่อไป
การป้องกันการตกขาวที่ผิดปกติ
1. การทำความสะอาดสามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นได้แต่ไม่ควรทำการสวนล้างช่องคลอดเพราะจะทำให้สมดุลของช่องคลอดเสียไปได้
2. ควรตรวจภายในทุก 1 ปีหลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์
3. สวมเสื้อผ้าและชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย ระบายอากาศได้ดีไม่อับชื้น
4. ไม่ใช้น้ำหอมหรือผลิตภัณฑ์ที่อาจจะระคายเคืองจุดซ่อนเร้น
5.ซับทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ
6.เปลี่ยนผ้าอนามัยหรือแผ่นอนามัยทุก 2 ชั่วโมง แม้ในวันที่เลือดประจำเดือนมาไม่มาก
7.ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ตกขาวเป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในคุณผู้หญิง หากมีอาการแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อย ๆแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้ออย่างละเอียดไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติและรักษาได้ทันเวลานะคะ
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ ฝากติดตามบทความต่อไปด้วยนะคะ
Reference:
1.“Vaginal discharge and vaginal bleeding”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttps://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1413:icm-vaginal-discharge-and-vaginal-bleeding&catid=127&Itemid=1010. [29 ก.ค. 2020].
2.”Disulfiram”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.drugrehab.com/treatment/medication-assisted/disulfiram/.[29 ก.ค. 2020].
เภสัชกรอิสรีย์นะคะ จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาพและอาหารเสริม หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะคะ ติดต่องาน : LINE @Bhaewow
E-mail : bhaewow@gmail.com
ติดตามเราได้ที่ : Youtube Bhaewow