ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการ โดยเฉพาะในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่จำเป็นต่อการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย นอกจากนี้ ธาตุเหล็กยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาท ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และสนับสนุนการเจริญเติบโตโดยรวมของเด็ก การขาดธาตุเหล็กอาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านการเรียนรู้และพัฒนาการล่าช้า ดังนั้น การได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมบูรณ์ของเด็ก โดยเฉพาะในช่วงวัยทารกและเด็กเล็กที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
สารบัญบทความ
ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก สำคัญอย่างไร
เด็กขาดธาตุเหล็กแล้วเป็นอย่างไร
ปริมาณ ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละวัย
อาหารที่อุดมไปด้วย ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อลูกได้รับธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก อาหารเสริมจำเป็นสำหรับทุกคนหรือไม่
ควรเสริมธาตุเหล็กให้ลูกเมื่อไหร่
ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก สำคัญอย่างไร?
ธาตุเหล็กมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปทั่วร่างกาย มีส่วนสำคัญในการสร้างพลังงานในระดับเซลล์ ช่วยให้เด็กมีความกระปรี้กระเปร่าและพร้อมสำหรับการเรียนรู้และการเล่น การได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางและส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและสติปัญญาของเด็ก
นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกของชีวิต เนื่องจากธาตุเหล็กจำเป็นต่อการสร้างเยื่อหุ้มไมอีลิน ซึ่งช่วยในการส่งสัญญาณประสาทอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนในการสังเคราะห์สารสื่อประสาท เช่น โดปามีน ซึ่งสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้และความจำ พบว่าเด็กที่มีระดับธาตุเหล็กเพียงพอมักมีสมาธิดีกว่าและสามารถจดจ่อกับงานได้นานกว่า การได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็กเนื่องจากธาตุเหล็กช่วยในการทำงานของสมองส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถในการสื่อสาร การเข้าใจภาษา และการแสดงออกทางภาษา
ธาตุเหล็กช่วยในการผลิตและการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นกองกำลังหลักในการต่อสู้กับเชื้อโรค มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างแอนติบอดี ซึ่งช่วยจดจำและกำจัดเชื้อโรคที่เคยเข้าสู่ร่างกายและเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์บางชนิดที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตอบสนองต่อการติดเชื้อ ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของเยื่อบุผิว ซึ่งเป็นด่านแรกในการป้องกันการติดเชื้อ
เด็กขาดธาตุเหล็กแล้วเป็นอย่างไร?
การขาดธาตุเหล็กในเด็กส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการ โดยอาการที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซีด และเจ็บป่วยบ่อย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้เด็กมีความอยากอาหารลดลง การเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ และมีปัญหาด้านการเรียนรู้และสมาธิ ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ทำให้เด็กมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และมีปัญหาในการเข้าสังคม
ในระยะยาวการขาดธาตุเหล็กอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง เป็นภาวะที่เกิดจากการขาดสารอาหารหรือปัญหาเกี่ยวกับระบบเลือด ซึ่งทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงหรือฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาท ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ล่าช้า การตรวจพบและแก้ไขภาวะขาดธาตุเหล็กตั้งแต่ระยะแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็ก การได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงและการเสริมธาตุเหล็กตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปริมาณ ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละวัย
- เด็กอายุ 0-6 เดือน ควรได้รับ 0.27 มิลลิกรัมต่อวัน (ได้รับจากนมแม่หรือสูตรนม)
- เด็กอายุ 7-12 เดือน ควรได้รับ 9.3 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับ 5.0 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 4-5 ปี ควรได้รับ 6.0 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 6-8 ปี ควรได้รับ 6.6 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กวัยรุ่นหญิง (9-12 ปี) ควรได้รับ 12.5 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กวัยรุ่นหญิง (13-15 ปี) ควรได้รับ 16.0 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กวัยรุ่นหญิง (16-18ปี) ควรได้รับ 16.0 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กวัยรุ่นชาย (9-12 ปี) ควรได้รับ 11.5 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กวัยรุ่นชาย (13-15 ปี) ควรได้รับ 15 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กวัยรุ่นชาย (16-18 ปี) ควรได้รับ 11.0 มิลลิกรัมต่อวัน
อาหารที่อุดมไปด้วย ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก
อาหารที่มีธาตุเหล็กปริมาณสูงและสามารถปรุงสำหรับเด็กๆมีหลายเมนูให้เลือก ได้แก่
1.ตับไก่หรือตับหมู เป็นแหล่งธาตุเหล็กที่ดี และสามารถทำเป็นอาหารจานโปรดได้ ตับหมู 100 กรัม ให้ธาตุเหล็กประมาณ 15 มิลลิกรัม ตับไก่ 100 กรัม ให้ธาตุเหล็กประมาณ 12 มิลลิกรัม เมนูอาหารที่แนะนำ เช่น ตับหมูผัดกระเพรา ตับหมูผัดหอมใหญ่ ตับหมูทอดกระเทียม ตับหวาน ตับหมูผัดกระเทียมพริกไทย ผัดดอกกุยช่ายตับหมู ลาบหมูและตับ เป็นต้น
2.ไข่แดง ไข่แดง 100 กรัมให้ธาตุเหล็กประมาณ 7.2 มิลลิกรัม แต่ไข่โดยทั่วไปจะมีน้ำหนักน้อยกว่า 100 กรัม และไข่ขาวมีธาตุเหล็กปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นอาจจะต้องคำนวณปริมาณให้ได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอ เมนูอาหารที่แนะนำ เช่น ไข่เจียว ไข่ต้ม ไข่ดาว ไข่ตุ๋น ไข่ม้วน ไข่ยัดไส้ ไข่กระทะ ไข่หวาน เป็นต้น
3.เนื้อสัตว์แดง เนื้อวัว 100 กรัม ให้ธาตุเหล็กประมาณ 3.2 มิลลิกรัม เนื้อหมู 100 กรัม ให้ธาตุเหล็กประมาณ 2.5 มิลลิกรัม และเนื้อไก่ 100 กรัม ให้ธาตุเหล็กประมาณ 1.8 มิลลิกรัม สามารถทำเป็นเมนูที่เด็กชอบได้มากมาย เช่น เนื้อสเต็ก หมูย่าง กระเพราหมูสับ ต้มจืดหมูสับ เนื้อไก่ทอดกระเทียม เป็นต้น
4.ถั่วต่างๆ ถั่วลิสง 100 กรัม ให้ธาตุเหล็กประมาณ 3.1 มิลลิกรัม อัลมอนด์ 100 กรัม ให้ธาตุเหล็กประมาณ 3.7 มิลลิกรัม ถั่วเหลือง 100 กรัม ให้ธาตุเหล็กประมาณ 3.3 มิลลิกรัม สามารถรับประทานเล่นเป็นขนมขบเคี้ยวหรือใส่ในขนมอบก็ได้
5.ผักใบเขียวเข้ม ผักหลายชนิดที่มีปริมาณธาตุเหล็กสูง เช่น ผักโขม บรอกโคลี ผักคะน้า ผักป้วยเล้ง ตำลึง ผักกาด เป็นต้น สามารถทำเป็นซุปหรือผัดกับเนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์เป็นแหล่งของธาตุเหล็กชนิดฮีม เหล็กฮีมเป็นธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ในการขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กชนิดอื่นๆ ที่พบในพืช ธาตุเหล็กในพืชเป็นชนิดเหล็กที่ไม่ใช่เหล็กฮีม (non-heme) ซึ่งร่างกายดูดซึมได้น้อยกว่าธาตุเหล็กที่พบในเนื้อสัตว์
นอกจากรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กแล้วการรับประทานวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ เช่น วิตามินซี จะช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กได้ แต่ทั้งนี้ควรเน้นการได้รับสารอาหารครบถ้วนเพื่อสนับสนุนสุขภาพที่ดีของเด็ก อาหารที่มีวิตามินเอสูง จะช่วยดูดซึมเหล็กฮีมได้ดีขึ้น เช่น ตับ ไข่ ฝักทอง แครอท มะละกอสุก มะม่วงสุก เป็นต้น
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อลูกได้รับธาตุเหล็ก
อาหารบางชนิดอาจขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่
1.นมและผลิตภัณฑ์จากนม แคลเซียมในนมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม สามารถขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กได้ เนื่องจากแคลเซียมไปจับกับธาตุเหล็กทำให้ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย หากจำเป็นต้องดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม ให้ดื่มห่างจากอาหารที่มีธาตุเหล็กประมาณ 1-2 ชั่วโมง
2.ชาหรือกาแฟ สารแทนนินในชาและกาแฟจะเข้าไปจับกับธาตุเหล็ก ทำให้เกิดสารประกอบที่ร่างกายดูดซึมได้ยาก และสารประกอบที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสารแทนนินและธาตุเหล็ก จะไปเกาะที่ผนังลำไส้ ทำให้ธาตุเหล็กไม่สามารถซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้
3.อาหารที่มีไฟเตตสูง เช่น ธัญพืช เมล็ดพืช ขนมปังธัญพืชและซีเรียลที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี จะไปจับกับธาตุเหล็กอาจลดการดูดซึมธาตุเหล็กได้
ธาตุเหล็กสำหรับเด็ก อาหารเสริมจำเป็นสำหรับทุกคนหรือไม่
การให้ธาตุเหล็กเสริมไม่ได้จำเป็นสำหรับเด็กทุกคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ธาตุเหล็กเสริมกับเด็ก การให้อาหารเสริมธาตุเหล็ก มีข้อดีในช่วยป้องกันและรักษาภาวะขาดธาตุเหล็กในเด็กที่มีความเสี่ยง เช่น เด็กที่กินอาหารไม่หลากหลาย หรือมีภาวะสุขภาพที่ต้องการธาตุเหล็กเสริม แต่หากการได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ และการสะสมของธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
ควรเสริมธาตุเหล็กให้ลูกเมื่อไหร่
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสริมธาตุเหล็กสำหรับเด็กที่กินนมแม่ ควรได้รับอาหารเสริมธาตุเหล็กตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป เนื่องจากปริมาณธาตุเหล็กในนมแม่อาจไม่เพียงพอสำหรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของทารกในวัยนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ได้เริ่มให้ทารกกินอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กสูง โดยการเริ่มเสริมธาตุเหล็กในเด็กเล็ก จะให้โดยการพิจารณาจากแพทย์เท่านั้น
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับธาตุเหล็กในเด็ก
1.ทำไมเด็กถึงต้องได้รับธาตุเหล็ก?
ตอบ ธาตุเหล็กสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย การขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เด็กมีภาวะเลือดจาง เหนื่อยง่าย และพัฒนาการทางด้านสติปัญญาล่าช้า
2.เด็กวัยไหนบ้างที่ควรได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารธาตุเหล็ก?
ตอบ เด็กทารกที่กินนมแม่แต่เพียงอย่างเดียวควรได้รับอาหารเสริมธาตุเหล็กตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป โดยพิจารณาการได้รับจากแพทย์ เด็กวัยอนุบาลและเด็กเล็กที่กินอาหารไม่หลากหลายอาจต้องการอาหารเสริมธาตุเหล็กเช่นกัน
3.อาการของเด็กที่ขาดธาตุเหล็กคืออะไร?
ตอบ เด็กที่ขาดธาตุเหล็กอาจมีอาการเลือดจาง เหนื่อยง่าย ผิวซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และพัฒนาการทางด้านสติปัญญาช้า
4.อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงสำหรับเด็กมีอะไรบ้าง?
ตอบ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ (โดยเฉพาะตับ) ไข่แดง ธัญพืช ผักใบเขียว และถั่วต่างๆ
ธาตุเหล็กมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก หากขาดธาตุเหล็กอาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางและส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสติปัญญา การเรียนรู้ และระบบภูมิคุ้มกัน เด็กมีความต้องการธาตุเหล็กสูงกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว เนื่องจากร่างกายกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ไข่แดง ถั่ว และผักใบเขียว จึงเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการที่สมบูรณ์ของเด็ก การรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก อาจจะต้องปรีกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเหล็กเกิน หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ ฝากติดตามบทความอื่นใน Bhaewow.com ด้วยนะคะ
อ้างอิง
3.การเสริมธาตุเหล็กในเด็กปฐมวัย
4.ปริมาณสารอาหารอ้างอิงสำหรับคนไทย2563
เภสัชกรอิสรีย์นะคะ จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาพและอาหารเสริม หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะคะ ติดต่องาน : LINE @Bhaewow
E-mail : bhaewow@gmail.com
ติดตามเราได้ที่ : Youtube Bhaewow