สิวเกิดจากอะไร สิวที่ผุดขึ้นบนใบหน้าไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาผิวพรรณธรรมดาเท่านั้น แต่บางครั้งมันอาจเป็นสัญญาณเตือนที่ร่างกายกำลังส่งมาบอกเราว่ามีบางอย่างผิดปกติ หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ตำแหน่งของสิวที่เกิดขึ้นนั้นสามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพภายในร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของฮอร์โมน ระบบย่อยอาหาร หรือแม้แต่ความเครียดที่สะสม บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิวกับสุขภาพเพื่อดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง
สารบัญบทความ
สิวเกิดจากอะไร ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิวและสุขภาพ
สาเหตุหลักของการเกิดสิว
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดสิวในแต่ละตำแหน่ง
บทส่งท้าย การอ่านสัญญาณจากสิวเพื่อดูแลสุขภาพที่ดี
สิวเกิดจากอะไร ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิวและสุขภาพ
สิวไม่ได้เป็นเพียงปัญหาผิวหน้าที่สร้างความกังวลเรื่องความสวยความงามเท่านั้น แต่ยังเป็นกระจกสะท้อนสุขภาพที่น่าสนใจ เคยสังเกตไหมว่าบางครั้งสิวที่เกิดขึ้นบนใบหน้าของเรานั้น มักจะเกิดซ้ำๆ ในตำแหน่งเดิม ในทางการแพทย์แผนจีนและการแพทย์องค์รวม เชื่อว่าผิวหนังเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายและมีความเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ภายใน ดังนั้นสิวอาจะเป็นสัญญาณที่ร่างกายกำลังบอกเราว่ามีบางอย่างผิดปกติ เช่น ร่างกายเกิดความไม่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นระบบฮอร์โมน ระบบย่อยอาหาร หรือแม้แต่ภาวะความเครียด จะส่งผลให้เกิดการอักเสบและแสดงออกมาในรูปแบบของสิวที่ตำแหน่งต่างๆ การเข้าใจความสัมพันธ์นี้จะช่วยให้เราสามารถ “อ่าน” สัญญาณจากร่างกายและหาวิธีแก้ไขปัญหาสุขภาพได้อย่างตรงจุด แทนที่จะมุ่งเน้นแค่การรักษาสิวที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว
สาเหตุหลักของการเกิดสิว สิวเกิดจากอะไร
สาเหตุหลักของการเกิดสิว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งมักทำงานร่วมกันจนนำไปสู่การเกิดสิว ดังนี้
ปัจจัยภายใน
1.การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่ไม่สมดุลในร่างกาย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ เอสโตรเจน โปรเจสโตรโรน และเทสโทสเตอโรน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้ผิวหนังของร่างกายผลิตน้ำมันออกมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน และเกิดสิวตามมาได้
สาเหตุที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจจะเกิดจาก
- การใช้ยาบางชนิด
- การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลสูง อาหารแปรรูป เป็นต้น
- ความเครียดทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งมากเกินไปส่งผลให้ไปรบกวนสมดุลของฮอร์โมนอื่น
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ
2.ระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าการรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำให้เกิดสิวลดลง
- มีการศึกษาในชาวอเมริกันพบว่าการที่รับประทารอาหารทีมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำทำให้น้ำหนักลดลง 87% พบว่าสิว ลดลง 91% พบว่าใช้ยารักษาสิวลดลง
- มีการศึกษาในชาวเกาหลีใต้ พบว่าเมื่อรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเป็นเวลา 10 สัปดาห์ ทำให้สิวลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
- นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็วได้ (sugar spike) เนื่องจากผลของระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอย่างรวดเร็วหลังรับประทานอาหาร (sugar spike) ส่งผลให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ทำให้ผิวหนังผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดสิวตามมา
สาเหตุที่ทำให้มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด อาจจะเกิดจาก
- การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและสูงอย่างรวดเร็ว
- รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง โปรตีนต่ำและไขมันดีต่ำ
- ดื่มน้ำหวานหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
- การใช้ชีวิตที่มีความเครียดทำให้เพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น
- อดอาหารหรือมีการจำกัดอาหารที่มากเกินความจำเป็น
3.ปัญหาสุขภาพลำไส้ ในลำไส้ของเราประกอบด้วยจุลินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ พบว่าคนที่เป็นสิวจะมีความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้น้อยกว่าคนทั่วไป และพบว่าจุลินทรีย์ที่มักจะขาดมักจะเป็นตระกูลแลคโตบาซิลลัสกับบิฟิโดแบคทรีเรียม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างลำไส้กับผิวหนังแต่ไม่ทราบกลไกที่ชัดเจน
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ในลำไส้กับอาหารที่ส่งผลต่อผิวหนัง มีดังนี้
- การผ่านของสารต่างๆเข้าสู่ลำไส้ที่เพิ่มขึ้น หรือลำไส้รั่ว ( Leaky gut) เกิดจากความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ มีจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้น้อย ทำให้ผลิตกรดไขมันสายสั้นลดลง ส่งผลทำให้ผนังกั้นของลำไส้หลวม ทำให้จุลินทรีย์และสารบางชนิดผ่านเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลให้เกิดการอักเสบในร่างกายและทำให้เกิดสิว
- ระบบภูมิคุ้มกัน นักวิจัยตั้งข้อสงสัยว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและเกี่ยวข้องการเกิดสิว
- จุลินทรีย์ในลำไส้ส่งสัญญาณผ่าน ระบบส่งสัญญาณในเซลล์ mTOR pathway ที่มีบทบาทในการควบคุมสุขภาพผิว
- จุลินทรีย์ในลำไส้สามารถผลิตสารสื่อประสาทบางชนิด และส่งผลต่อการทำงานของผิวหนัง มีผลต่อโรคผิวหนังต่างๆ เช่น สิว
- จุลินทรีย์บนผิวหนัง นักวิจัยเชื่อว่ากรดไขมันสายสั้นที่ผลิตจากจุลินทรีย์ในลำไส้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์บนผิวหนัง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดสิว
สาเหตุที่ทำให้มีผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ มีดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีกากไยต่ำ น้ำตาลสูง ดื่มน้ำน้อย
- การกินยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ ทำให้สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้เสียไป
- ความเครียด ทำให้จุลินทรีย์ที่ดีลดลง
- พันธุ์กรรม ในบางคนยีนส์ที่ชื่อว่า NOD2 ทำงานไม่ปกติ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในเรื่องของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ไม่สมดุล
ปัจจัยภายนอก
1.สิ่งแวดล้อมและมลภาวะ เช่น ฝุ่น PM 2.5 ความร้อน ความชื้น หรือการสัมผัสสารเคมี สามารถอุดตันรูขุมขนและก่อให้เกิดการระคายเคือง
2.การดูแลผิวที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่อุดตันรูขุมขน การล้างหน้าที่รุนแรงเกินไป หรือการแกะเกาสิว ล้วนทำให้อาการของสิวแย่ลง
3.การใช้เครื่องสำอางที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว หรือการทำความสะอาดเครื่องสำอางไม่หมด อาจเป็นสาเหตุของการอุดตันและการเกิดสิว
การเข้าใจสาเหตุของการเกิดสิวจะช่วยให้เราสามารถวางแผนการป้องกันและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการปรับพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ไม่เพียงแต่การรักษาที่ผิวหนังเท่านั้น
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดสิว
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เมื่อเผชิญกับปัญหาสิว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก
- เริ่มจากการรักษาความสะอาดของผิวหน้าอย่างสม่ำเสมอ โดยล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและเหมาะกับสภาพผิว
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีผลทำให้ผิวแห้งจนเกินไปและไม่อุดตันรูขุมขน
- หลีกเลี่ยงการแกะหรือบีบสิว เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบและทิ้งรอยแผลเป็น
- ควรใช้ยารักษาสิวที่ถูกต้องโดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือเภสัชกร
- ควรเปลี่ยนปลอกหมอนทุกสัปดาห์ และระวังไม่ให้มือสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย
2.การปรับอาหาร
อาหารมีผลโดยตรงต่อสภาพผิวและการเกิดสิว
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง อ่านอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลGIต่ำ ที่นี่
- ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง รับประทานผัก สมุนไพร ถั่ว และผลไม้ที่หลากหลาย
- รับประทานผัก 5 สี เนื่องจากมีสารโพลีฟีนอล ช่วยเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ในลำไส้
- รับประทานอาหารหมักดอง เช่น กิมจิ โยเกิร์ต คอมบูชะ เนื่องจากเป็นแหล่งของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป
- เว้นช่วงรับประทานอาหารให้ลำไส้ เช่น การทำฟาสติ้ง (IF: Intermittent fasting)
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนการ เนื่องจากแต่ละบุคคลต้องการอาหารที่แตกต่างกัน
3.การดูแลสุขภาพจิต
ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดสิว การดูแลสุขภาพจิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรหาวิธีผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะกับตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ การฝึกหายใจ หรือการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ พยายามนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอช่วยลดการผลิตฮอร์โมนความเครียดและส่งเสริมการฟื้นฟูผิว
บทส่งท้าย สิวเกิดจากอะไร การอ่านสัญญาณจากสิวเพื่อดูแลสุขภาพที่ดี
สิวเป็นมากกว่าปัญหาผิวหน้าที่สร้างความกังวล แต่เป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงสุขภาพของร่างกาย การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิวและสุขภาพจะช่วยให้เราดูแลตัวเองได้ตรงจุดมากขึ้น ในปัจจุบันการรักษาสิวมีหลากหลายวิธีที่มีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Benzoyl Peroxide หรือ Salicylic Acid ที่ช่วยลดการอักเสบและยับยั้งแบคทีเรีย ไปจนถึงการใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของวิตามินเอที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวและป้องกันการอุดตัน สำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยารับประทานร่วมกับการรักษาด้วยเลเซอร์หรือการทำทรีตเมนต์เฉพาะจุด
อย่างไรก็ตาม การรักษาสิวที่ได้ผลในระยะยาวต้องมองให้ลึกกว่าการรักษาที่ผิวหน้าเพียงอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การจัดการความเครียด และการพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสมกับสภาพผิวของตนเอง เมื่อเราใส่ใจและ “ฟัง” สิ่งที่ร่างกายกำลังบอก ปัญหาสิวก็จะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป แต่กลายเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราหันมาดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน
สุดท้ายนี้ การรักษาสิวไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ละคนอาจต้องใช้เวลาในการค้นหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง หากปัญหาสิวยังคงรบกวนจิตใจหรือมีอาการรุนแรง การปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ผิวที่สวยสุขภาพดีอย่างยั่งยืน เพราะการดูแลสุขภาพที่ดีต้องเริ่มจากการใส่ใจทั้งภายในและภายนอกควบคู่กันไป และดูแลอย่างสม่ำเสมอจึงจะทำให้เห็นผลลัพธืที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ ฝากติดตามบทความสุขภาพที่น่าสนใจต่อไปด้วยนะคะ อ่านโปรไบโอติกส์ลดสิวเรื้อรังได้ที่นี่
อ้างอิง
1.Hormonal acne : What is it and why it happens
2.A low glycemic index may lead to fewer pimples
3.What is relationship between gut-health and acne
เภสัชกรอิสรีย์นะคะ จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาพและอาหารเสริม หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนนะคะ ติดต่องาน : LINE @Bhaewow
E-mail : bhaewow@gmail.com
ติดตามเราได้ที่ : Youtube Bhaewow