Thursday, 31 October 2024

ทาวิตามินซี ช่วยลดรอยแผลเป็นจากสิว ลดรอยดำรอยแดงจากสิว

วันนี้จะมาพูดถึง ประโยชน์ของการทาวิตามินซีมีผลต่อรอยสิวอย่างไรนะคะ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวได้แก่ อายุ พันธุกรรม และฮอร์โมน โดยกระบวนการเกิดสิวเกิดจากความผิดปกติของรูขุมขน และต่อมไขมัน 4 ข้อ ได้แก่
1.การเพิ่มขนาดและการทำงานของต่อมไขมันทำให้ผลิตน้ำมันมากขึ้นกว่าปกติ
2.การหนาตัวของเคราตินทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน
3.การเพิ่มจำนวนของ Cutibacterium acnes (C.acnes) ซึ่งเป็นแบคทรีเรียที่ชอบกรดไขมันในต่อมไขมัน
4.เกิดกระบวนการอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเมื่อ Cutibacterium acnes (C.acnes) เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้รูขุมขนที่เกิดการอักเสบเป็นหนองและมีขนาดใหญ่ขึ้นในที่สุดก็กลายเป็นสิวหนองนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิดกระบวนการอักเสบเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้เกิดรอยแดงหรือรอยแผลจากสิวเป็นบนผิวได้นะคะ
โดยประโยชน์ของวิตามินซีในรูปแบบทาจะมีผลต่อผิวและรอยสิวดังนี้
1.วิตามินซีแบบทา จะสามารถช่วยลดกระบวนการอักเสบ โดยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพิ่มการแบ่งตัวและจำนวนเซลล์ของ T-lymphocyte ทำให้ต่อต้านการอักเสบและอาการบวมแดงของสิวได้ และยังช่วยลดสิวอุดตันโดยการทำให้การทำงานของชั้นหนังกำพร้าผลัดเซลล์ได้ดีขึ้น
2.วิตามินซีแบบทา อาจจะช่วยลดรอยและรอยแผลจากสิวได้ โดยมีการศึกษาในคนที่เป็นสิว 50 คนพบว่าร้อยละ 61 ของคนที่ใช้ Sodium ascorbyl phosphate 5% มีแผลที่เกิดจากสิวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งแผลที่เป็นหลุมลึกลงไป (atrophic) เนื่องจากผิวได้เสียเนื้อเยื่อและคอลลาเจน โดยการใช้วิตามินซีแบบทาจะไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้กับผิว ลดการสลายของคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ เพิ่มความคงตัวให้คอลลาเจนที่ชั้นผิวหนัง และเร่งการสร้างผิวใหม่
3.วิตามินซีแบบทา ช่วยลดการสร้างเม็ดสีผิว ลดผิวคล้ำเสีย ลดรอยแดงจุดด่างดำจากสิว โดยวิตามินซีแบบทาจะไปยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ทำให้มีผลต่อการสร้างเม็ดสีเมลานินลดลง
วิธีเลือกวิตามินซีแบบทา
วิตามินซีแบบทา สำหรับบำรุงผิวมักจะอยู่ในรูปของเซรั่ม อิมัลชัน และครีม โดยโดยวิตามินซีแบบทาจะอยู่ในรูปแบบ Ascorbic acid จะเป็นรูปแบบของวิตามินซีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่มีความคงตัวน้อยเมื่อสัมผัสกับอากาศจะเปลี่ยนเป็น Dehydroascorbic acid ทำให้ผลิตภัณฑ์กลายเป็นสีเหลือง ซึ่งเพื่อนๆอาจจะพบได้ในบางผลิตภัณฑ์ ดังนั้นเราต้องเลือกวิตามินซีแบบทาให้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่กันแสง เก็บให้ไกลจากความร้อน และอาจจะดูสูตรประกอบหรือทดลองใช้ โดยวิตามินซีแบบทาควรมีความเข้มข้นมากกว่าร้อยละ 8 ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีความเข้มข้นอยู่ระหว่างร้อยละ 10-20 หากมีความเข้มข้นมากกว่าร้อยละ 20 จะไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพแต่จะทำเกิดการระคายเคืองกับผิวมากกว่า เนื่องจาก Ascorbic acid เป็นวิตามินซีที่มีประสิทธิภาพลดอนุมูลอิสระที่ดีที่สุด แต่จะมีความคงตัวที่ PH ต่ำกว่า 4 และมีความคงตัวต่ำ ทำให้ในปัจจุบันมีการใช้ Ascorbyl glucoside ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของ Ascorbic acid (เป็นสารตั้งต้นของ Ascorbic acid) เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นอนุพันธ์ของ Ascorbic acid ที่มีความคงตัวต่ออากาศร้อน แสง และออกซิเจน ทำให้ Ascorbyl glucoside เป็นที่นิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สามารถดูดซึมสู่ผิวได้ดีและเมื่อทา Ascorbyl glucoside ลงบนผิวจะถูกเอนไซม์ชื่อว่า Alpha-glucosidase เปลี่ยนเป็น Ascorbic acid
วิตามินซีแบบทามีประสิทธิภาพดีขึ้นเมื่อทากับ
1.ตัววิตามินซีจะมีความคงตัวมากขึ้นและออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับวิตามินอีหรือ Furlic acid โดยเมื่อใช้วิตามินซีคู่กับวิตามินอีแบบทาจะสามารถป้องกันการถูกทำลายและการอักเสบของผิวหนังได้ดีกว่าการใช้วิตามินซีหรือวิตามินอีได้ถึง 4 เท่า
2.เมื่อทาวิตามินซีร่วมกับกันแดดทำให้เสริมประสิทธิภาพของกันแดดลดการเกิดผิวไหม้ได้ถึงร้อยละ 40 และลดการเกิดผิวแดงจากการโดนแดดได้ถึงร้อยละ 52
ข้อควรระวังเมื่อใช้วิตามินซีแบบทา
ผลิตภัณฑ์วิตามินซีแบบทาส่วนใหญ่จะอยู่ใน PH ที่ค่อนข้างเป็นกรด ดังนั้นในบางคนอาจเกิดการระคายเคือง อาการแสบผิว อาการแดงหรือว่าผิวแห้งหลังจากทาได้เล็กน้อย หากมีอาการดังกล่าวให้หาครีมบำรุงมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ทาเพื่อบรรเทาอาการ
ในความเป็นจริงประโยชน์ของวิตามินซีแบบทาที่มีต่อผิว มีค่อนข้างมากไม่ว่าจะช่วยเรื่องหลุมสิว ลดการอักเสบ รอยแดงจากสิว ช่วยเพิ่มการผลัดเซลล์ รวมถึงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระลดริ้วรอย รอยเหี่ยวย่น ทำให้ผิวชุ่มชิ้น ขอให้เพื่อนๆเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวเองและใช้แล้วไม่แพ้นะคะ
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ฝากติดตาม บทความต่อไปด้วยนะคะ
Fututre read:
1. “Topical vitamin C and the skin: Mechanisms of action and clinical applications”. J Clin Asthet Dermatol. 2017 Jul;10(7):14-17.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5605218/
Reference:
1. “บทบาทของวิตามินซีต่อผิวหนัง”. วรสารกรมการแพทย์. ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 พ.ค.-มิ.ย 2562.หน้า 7
2.” The role of vitamin C in skin health”.Juliet M. Nutrients 2017 Aug;9(8):866. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5579659/
3. “Vitamin C in dermatology”. Indian Dermatol Online J.2013 Apr-Jun;4(2):143-146 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3673383/
4. “Role of vitamin C and vitamin E in skin health”. ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา.http://www.wongkarnpat.com/upfilecpe/CPE242.pdf

Disclaimer

เราจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในเว็บไซด์ แห่งนี้มีไว้เพื่อการศึกษาหรือเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หรือใช้แทนคำการวินิจฉัย การรักษาทางการแพทย์แต่อย่างไร หากคุณมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบายควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลเท่านั้น